YOU ME WE USYOU ME WE USYOU ME WE US
THEN
StoriesBecoming HomeUnderstand MoreSubmit StoryAbout Us
facebookfacebookfacebookfacebook
Terms of UsePrivacy Policy
©2021 United Nations Development Programme
TH
EN
go to top
Understand More
I
People Unseen: ประเทศไทยกับความหลากหลายของชาติพันธุ์
II
Rights Unknown: สิทธิและสถานะทางทะเบียน
III
Stories Untold: ชีวิตในป่า เขา ลำเนาไพร
IV
เรื่องราวที่ไม่ถูกเล่าของเยาวชนชาติพันธุ์
V
ชนเผ่าพื้นเมือง 101
VI
นิยามศัพท์
I
People Unseen
ประเทศไทยกับความหลากหลายของชาติพันธ์ุ

“เราเป็นคนไทย ที่อยู่ในประเทศไทย” เราต่างคุ้นเคยประโยคแบบนี้ตั้งแต่จำความได้ จนบางครั้งเราคุ้นเคยกับการที่ประชาชน กับ ประเทศ เป็นสิ่งเดียวกัน ทั้งที่ความจริง ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ สัญชาติ และประเทศ คือคนละเรื่องกัน

        ชาติพันธุ์ คือ การจำแนกกลุ่มคนตามวัฒนธรรม
        เชื้อชาติ คือ การจำบุคคลเป็นกลุ่มใหญ่ตามรูปลักษณ์
        สัญชาติ ว่าด้วย ความเป็นพลเมืองของรัฐใดรัฐหนึ่ง
        ประเทศ ว่าด้วย รัฐ เขตแดนทางกายภาพ และประชากร

        เมื่อคำว่า ‘ไทย’ ถูกหยิบมาใช้ทั้งในบริบทดินแดนและผู้คน สิ่งที่ตามมาจึงคือภาพจำว่าคนในประเทศไทยมีเพียงคนไทย

        บางครั้งเราจึงเผลอนึกว่าคนในประเทศกัมพูชาคือคนกัมพูชา ทั้งที่จริงเขาไม่ใช่คนกัมพูชาแต่ประชากรกลุ่มใหญ่ในประเทศกัมพูชาคือคนเขมร แถมยังมีคนอีกหลายกลุ่มอยู่ในนั้น

        เช่นกันกับในประเทศไทย ประเทศไทยประกอบด้วยประชากรหลายชาติพันธุ์  

        ข้อมูลจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทรระบุไว้ว่าชาติพันธุ์ในประเทศไทยมีถึงกว่า 60 ชาติพันธุ์หากแบ่งตามที่เจ้าของวัฒนธรรมใช้เรียกตนเอง มีทั้งคนไทย คนกะเหรี่ยง คนลาวโซ่ง ชาวบน ชาวบรู ชาวมอแกน และอีกมากมาย และหากแบ่งตามกลุ่มภาษาจะสามารถจัดกลุ่มได้ถึง 70 กลุ่มภาษาใน 5 ตระกูลด้วยกัน

        และเมื่อเราพยายามสืบเสาะลงไปว่าคนหนึ่งๆ ที่อยู่ในประเทศไทยมีส่วนผสมของชาติพันธุ์ใดบ้าง แทบทุกคนจะระบุความหลากหลายหรือลงรายละเอียดได้มากกว่าเพียงว่าเป็นคนไทย เพราะเราต่างมาจาก ‘ร้อยพ่อพันแม่’ แล้วร้อยพ่อพันแม่ก็มีภูมิหลังที่หลากหลาย เพียงแต่ความหลากหลายเหล่านั้นมักไม่ค่อยถูกทำให้เห็นกันเป็นเรื่องปกติ

 

จากสยามสู่ไทย

        มีหลายหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าที่ตั้งของประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งที่แยกออกจากอุษาคเนย์ มีการอพยพเคลื่อนย้ายและการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างคนกลุ่มต่างๆ เป็นเรื่องปกติมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมา พื้นที่นี้จึงมีผู้คนมากมายหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ 

        สุจิตต์ วงษ์เทศได้อธิบายไว้ว่า บรรพชนคนไทยคือคนชาติพันธุ์ต่างๆ ในอุษาคเนย์ ในทางเหนือ เช่น ม้ง  เมี่ยน รวมทั้งคนในตระกูลพม่า-ทิเบต เช่น กะเหรี่ยง ส่วนทางใต้สุดคือ มลายู โดยชาติพันธุ์เหล่านี้มีมาก่อนคำว่า “คนไทย”

        จุดเปลี่ยนที่สร้างสำนึกความเป็นไทยให้แข็งแกร่ง โดยส่งผลไปถึงการกลบทับความหลากหลายของผู้คน อาจต้องย้อนกลับไปถึงยุคที่สยามในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2411-2453) ท่ามกลางการล่าอาณานิคมที่ขนาบข้างสองฝั่ง สยามได้ลากเส้นเขตแดนรัฐชาติตามแนวสันปันน้ำจนสำเร็จ เพื่อมุ่งรักษาดินแดนจากการกำหนดเขตแดนที่ชัดเจน หากแต่การกำหนดเขตแดนนั้นกลับไม่ได้พิจารณาถึงพรมแดนทางวัฒนธรรม จึงทำให้ผู้คนที่มีความหลากหลายถูกรวมเข้าเป็นสมาชิกของรัฐชาติเดียวกัน ในขณะเดียวกันคนที่มีภูมิหลังร่วมกันก็ถูกแยกจากกัน เช่น คนกะเหรี่ยงที่ฝั่งชายแดนด้านทิศตะวันตกของไทยที่มีภาษา วัฒนธรรม มีประวัติศาสตร์ร่วมกับคนฝั่งเมียนมาที่อยู่ตรงข้ามกัน

        การปกครองแบบรวมศูนย์และการสร้างชาติที่เข้มข้นขึ้นในยุคนั้นเองส่งผลให้วัฒนธรรมของคนชาติพันธ์ุที่อยู่พื้นที่ป่าเขาและหัวเมืองที่อยู่ห่างไกลถูกมองเป็นเรื่องแปลก ตลก และถูกควบคุมโดยชนชั้นนำที่ถูกส่งไปจากส่วนกลาง

        อีกจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดในคณะรัฐมนตรีที่นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2481-2500) ที่มีความเห็นให้เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามมาเป็นไทย รวมถึงการดำเนินนโยบายที่มุ่งสร้างความเป็นเอกภาพทางวัฒนธรรมไทยหรือหลอมรวมให้คนในชาติให้ยึดมั่นในวัฒนธรรมเดี่ยว มีการออกประกาศให้ทุกคนทำตามหลายอย่างที่สะท้อนถึงการไม่ส่งเสริมวัฒนธรรมย่อยและกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น การให้ใช้ภาษาไทยกลาง ให้แต่งกายตามที่กำหนด การเรียกร้องให้อนุรักษ์วัฒนธรรมไทย

        ยุคที่ใกล้ปัจจุบันขึ้นมาหน่อย อภินันท์ ธรรมเสนา นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรอธิบายว่า สำนึกความเป็นไทยถูกนำมาใช้อย่างชัดเจนในช่วงที่รัฐปราบคอมมิวนิสต์ 

        “ความขัดแย้งเริ่มรุนแรงอีกครั้งในยุคสงครามเย็น โดยกลุ่มชาติพันธุ์ที่ส่วนหนึ่งมีถิ่นที่อยู่ตามชายแดนถูกมองเป็นภัยความมั่นคงของรัฐ” อภินันท์ ขยายความต่อว่าการจัดการของรัฐจึงมีสองแบบ หนึ่งคือผนวกรวมให้เป็นคนไทย ดังที่จะเห็นว่าเกิดขึ้นเยอะกับกลุ่มคนทางอีสาน หรืออีกทางหนึ่งคือผลักออกเป็นคนอื่น เช่น การขยายภาพว่าคนบนที่สูง อย่างม้งบางกลุ่มเป็นผู้ค้ายาเสพติด

 

ความหลากหลาย ความมั่นคง และความเป็นไทย

        ผ่านมาหลายสิบปี แม้การล่าอาณานิคมและสงครามเย็นจะจบลง ความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์จะไม่มีอิทธิพลเด่นชัดแบบอดีต แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวคิดไทยนิยมได้หยั่งรากลึกลงในสังคม และกลุ่มชาติพันธุ์ยังคงถูกมองอย่างมีอคติเจือปน

        อภินันท์เล่าต่อว่าแนวคิดการพัฒนาชาติไทยตั้งแต่ยุค 2530 เป็นต้นมา มีการยอมรับกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้น แต่เป็นการยอมรับที่ต้องอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐ อีกทั้งมองว่าต้องการการสงเคราะห์ มากกว่าการเห็นคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

        อีกสิบปีให้หลัง การมองเรื่องชาติพันธุ์ก้าวหน้าขึ้นนับตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 มีการพูดถึงประเด็นสิทธิชุมชน สิทธิท้องถิ่น ผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายเริ่มมองเห็นถึงความเป็นชาติพันธุ์ อย่างไรก็ตาม คนชาติพันธุ์ได้รับความสนใจผ่านมิติด้านวัฒนธรรมมากกว่าจะมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรอย่างแท้จริง

        ในปี 2550 ประเทศไทยได้รับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองที่สหประชาชาติได้ประกาศไว้ โดยสิทธิหลักๆ ของชุมชนพื้นเมือง ได้แก่ สิทธิในที่ดิน เขตแดน และทรัพยากร สิทธิในการกำหนดชีวิตตนเอง สิทธิในการมีฉันทามติโดยอิสระ  แนวคิดช่วงนี้เริ่มเสริมส่งศักยภาพผู้คนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม อภินันท์เห็นว่า ชาติพันธุ์ถูกใช้ให้เป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตมากกว่าการมีสิทธิมีเสียงในการจัดการตัวเอง

        “แนวคิดเรื่องความหลากหลายและสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ในสังคมไทยมีความย้อนแย้งอยู่มาก เราจะเห็นว่าเส้นทางของความคิดของรัฐมีฐานคิดอยู่บนความมั่นคงของชาติ ซึ่งมีความเข้มแข็งกว่าการให้ความสำคัญความมั่นคงของมนุษย์ที่จะให้ศักดิ์ศรีความเป็นคนมากขึ้น”

        “เพราะฉะนั้นความหลากหลายที่ยอมรับได้จึงจะเน้นไปที่ความหลากหลายที่ไม่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ เช่น ยอมรับความสวยงามของการแต่งกาย ภาษา วัฒนธรรม แต่ไม่ได้มีการพูดถึงมิติที่ลึกกว่านั้น เพราะอาจกระทบถึงอำนาจในการบริหารจัดการพื้นที่” อภินันท์กล่าว

        ความก้าวหน้าเรื่องการยอมรับกลุ่มชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นข้างต้น จึงสรุปได้ว่าเป็นการยอมรับความหลากหลายบนนโยบายที่ไม่หลากหลาย กล่าวคือตราบใดที่ความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ข้ามเส้นที่รัฐควบคุมได้ ความหลากหลายนั้นก็จะยอมรับได้ แต่หากความหลากหลายนั้นข้ามเส้นที่รัฐควบคุมได้เมื่อใด เช่น เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับทรัพยากร เมื่อนั้นประโยชน์และความมั่นคงของชาติก็จะถูกเน้นย้ำความสำคัญขึ้นมาทันที

        ทุกวันนี้สังคมโลกยอมรับและมองความหลากหลายว่าเป็นสิ่งสวยงาม ความมั่นคงของมนุษย์กลายเป็นวาระสากลที่หลายประเทศนำมาปรับเป็นนโยบาย การอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจ การเคารพในวัฒนธรรมที่แตกต่าง และคืนสิทธิพื้นฐานให้กับคนชาติพันธุ์ท้องถิ่นได้มาเป็นหนึ่งในทางออกของสารพัดปัญหาค้างคาที่กระทบต่อหลักสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมซึ่งเป็นผลมาจากยุคการสร้างชาติแบบดั้งเดิมที่เน้นวัฒนธรรมเดี่ยว

        ด้านประเทศไทยเองก็เริ่มมองความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ในเชิงบวกมากขึ้นตามลำดับ นับแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และในฉบับฉบับปัจจุบัน ปี 2560 มาตรา 70 ก็ได้ให้การคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข

        ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2562 การขับเคลื่อนพ.ร.บ.เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยมีความคืบหน้ามากขึ้น มีการผลักดัน ร่างพ.ร.บ.หลายฉบับ1 เพื่อเติมเต็มการรับรองสิทธิและการดำรงวิถีวัฒนธรรมในชาติพันธุ์ของประเทศไทย ซึ่งใจความสำคัญของร่างฯ มีจุดร่วมในสาระสำคัญว่าด้วยการรับรองสถานะ การสร้างความเสมอภาคบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม การสร้างกลไกคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ และการส่งเสริมศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ 

        แม้จะใช้เวลายาวนานและมีขั้นตอนกระบวนการจัดทำกฎหมายและนโยบายที่ค่อนข้างซับซ้อน การผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติที่คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ได้จริงจะเป็นรากฐานและจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการรับรองสิทธิคนชาติพันธุ์ในสังคมไทย

 

 

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

1

1. พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย จัดทำโดยสภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ
2. ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
3. ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ยกร่างโดยคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ
4. ร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฉบับก้าวไกล 

ที่มา

https://rsucon.rsu.ac.th/files/proceedings/nation2019/NA19-089.pdf
https://www.matichon.co.th/columnists/news_2306932

II
Rights Unknown
สิทธิและสถานะทางทะเบียน

        ประชาชนไทยส่วนใหญ่ย่อมคุ้นเคยกับการต้องทำบัตรประชาชนไทยสีฟ้าอ่อนเมื่ออายุครบ 15 ปีหรือ 7 ปีบริบูรณ์ ขึ้นอยู่กับว่าเกิดก่อนหรือหลังปี 2554 

        สำหรับคนมีบัตรประชาชนไทย เรามักนึกถึงการใช้บัตรเพื่อยืนยันตัวตนทำธุรกรรมและรับสิทธิพื้นฐานบางอย่าง แต่สำหรับคนที่ไม่มีบัตรประชาชนไทย เมื่อนึกถึงบัตรประชาชน หลายคนจึงผูกโยงกับผลกระทบที่ตามมา นั่นคือการเข้าไม่ถึงสิทธิหรือการถูกจำกัดสิทธิบางอย่าง ทั้งที่ในความเป็นจริงหลายคนก็เกิดและเติบโตในแผ่นดินนี้

        ข้อมูลกรมการปกครองปี 2563 ระบุว่าประเทศไทยมีคนไร้สัญชาติที่ไม่ไร้รัฐจำนวน 539,696  คน เหตุผลหนึ่งที่บุคคลที่เกิดและเติบโตที่นี่ไร้สัญชาติปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลมาจากความเข้าใจของสังคมและกรอบกฎหมายที่มองกลุ่มชาติพันธุ์เป็นอื่น มองไม่เห็นความหลากหลายที่ถูกกลบภายใต้กระบวนการสร้างชาติและความเป็นไทย อย่างไรก็ตามเมื่อพ้นยุคสร้างชาติที่เข้มข้น การทำความเข้าใจเรื่องความหลากหลายของผู้คนก็เริ่มมีที่ทางมากขึ้น ทั้งในงานวิชาการและความเข้าใจของสังคม

 

สัญชาติไทยได้แต่ใดมา

        โดยพื้นฐานที่สุด สัญชาติมากับการเกิด ทั้งได้ติดตัวตามสัญชาติของพ่อแม่ หรือได้จากถิ่นกำเนิด เช่น เกิดในประเทศไทยก็จะได้สัญชาติไทยติดมาด้วย    

        แต่ไหนแต่ไรประเทศไทยใช้หลักการได้สัญชาติเช่นนี้เรื่อยมา จนกระทั่งรัฐบาลออกประกาศในปี 25151 มีการเพิ่มจึงเพิ่มเงื่อนไขการให้สัญชาติตามถิ่นกำเนิดว่า ผู้ที่เกิดในประเทศไทยจะได้สัญชาติไทยก็ต่อเมื่อพ่อแม่ต้องไม่ใช่คนต่างด้าวที่เข้าเมืองชั่วคราวหรือคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยให้ประกาศนี้มีผลย้อนหลังด้วย ประกาศฉบับนั้นเป็นผลจากความหวาดกลัวการขยายลัทธิการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์          

        ผลจากประกาศนั้นทำให้คนที่เคยได้สัญชาติไทยตามหลักดินแดนต้องถูกถอนสัญชาติไทย หากพ่อหรือแม่เป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองชั่วคราวหรือเข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย แม้ประกาศนี้จะถูกยกเลิกตามการแก้ไขพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) แต่หลักการเรื่องการได้สัญชาติตามถิ่นกำเนิด โดยมีเงื่อนไขเรื่องสถานะของบิดามารดายังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน

        นอกจากสัญชาติที่มากับการเกิดแล้ว ผลจากการต่อสู้เรื่องสัญชาติอย่างต่อเนื่องทำให้ปัจจุบันกฎหมายเริ่มเปิดช่องทางให้บุคคลเข้าถึงการได้มาซึ่งสัญชาติผ่านกระบวนการของกฎหมายได้มากขึ้น

        แต่ในความเป็นจริง ต่อให้จัดทำทะเบียนประวัติได้แล้ว ใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงสิทธิการเป็นคนไทยในทันที ยังต้องอาศัยกระบวนการหลายขั้นตอน อีกทั้งยังเผชิญกับความท้าทายหลายอย่างระหว่างกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ

 

ความท้าทายในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ

        ช่องทางในการพิสูจน์สัญชาติซับซ้อน ลำพังการทำความเข้าใจเรื่องกลุ่มและประเภทของการขอสัญชาติก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

        ตัวบทกฎหมายและแนวปฏิบัติกำหนดให้ผู้ขอรับการพิสูจน์สัญชาติต้องใช้เอกสารประกอบหลายประเภท ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่บุคคลผู้ขอพิสูจน์สัญชาติจะเข้าถึงได้โดยง่าย เช่น การต้องใช้เอกสารของบรรพบุรุษ เอกสารการเกิด วุฒิการศึกษา เป็นต้น ทั้งนี้คนรุ่นเก่ามักไม่มีเอกสารประจำตัว ไม่ได้เรียนหนังสือ เข้าไม่ถึงการรับรองการเกิด

        นอกจากนี้ผู้ที่อยู่ห่างไกล เช่น คนในพื้นที่ป่า พื้นที่สูง คนในพื้นที่เกาะ ทะเล หรือคนที่ดำรงชีวิตบนฐานวัฒนธรรมเฉพาะอาจทำคลอดเองที่บ้านโดยไม่ได้แจ้งเกิดกับทางการ หรือบางกรณีเกิดในโรงพยาบาลแต่ไม่สามารถแจ้งเกิดได้ เนื่องจากพ่อและแม่ไม่มีเอกสารประจำตัว เมื่อไม่มีเอกสารการแจ้งเกิดหรือหลักฐานที่เป็นเอกสารทางราชการจึงต้องพึ่งพาพยานบุคคลที่เป็นผู้นำชุมชน ซึ่งบางกรณีปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับการเรียกรับผลประโยชน์ด้วย

        ภาษาคืออีกหนึ่งความท้าทายเพราะในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ต้องทำความเข้าใจแนวปฏิบัติทางการหลายอย่าง ต้องกรอกแบบฟอร์ม ซึ่งอาจไม่เป็นไปโดยง่ายโดยเฉพาะกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษาของตนเองในชีวิตประจำวัน

        กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ (ของบุคคลต่างด้าวทั่วไป ตามมาตรา 9 ของพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508) กินระยะเวลายาวนานถึง 475 วัน และต้องผ่านการอนุมัติและพิจารณาจากหน่วยงานรัฐหลายฝ่าย ในระหว่างกระบวนการนี้ บางครั้งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีการโยกย้ายทำให้การขอสัญชาติขาดความต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ที่ย้ายมาใหม่บางรายอาศัยเวลาในการทำความเข้าใจเรื่องการขอสัญชาติและศึกษารายละเอียดของผู้ยื่นเรื่องในแต่ละกรณีใหม่ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความต่อเนื่องและระยะเวลาที่ใช้ในกระบวนการกลั่นกรองเพื่อรับรองสถานะบุคคล

        แม้แนวปฏิบัติได้เปิดช่องทางกฎหมายให้มีการขอพิสูจน์สัญชาติ แต่ในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่ได้ทำงานเชิงรุกที่เพียงพอ ส่วนหนึ่งเพราะเจ้าหน้าที่มีจำนวนจำกัด จึงอาจทำให้ผู้คนโดยเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลยังขาดโอกาสได้รับการสำรวจ พิสูจน์ และกลายเป็นบุคคลตกหล่นในที่สุด นอกจากนี้ สาเหตุที่การเข้าถึงสัญชาติเป็นไปอย่างยากลำบากนั้นก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับอคติ เช่น การถูกมองว่าไม่ใช่คนไทย ถ้าให้สัญชาติก็กลัวมาแย่งงาน แย่งทรัพยากร 

 

ผู้ที่อยู่ในประเทศไทย สิทธิที่ขาดหายกับการไม่มีสัญชาติ

        การแบ่งสถานะบุคคลของผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้ที่มีสัญชาติไทย และผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย 

        โดยกลุ่มคนไม่มีสัญชาติจำนวนไม่น้อยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ มีทั้งกลุ่มที่อยู่บนพื้นที่สูง เขตป่า เช่นกลุ่มมลาบรี และทะเล เช่น คนมอแกน รวมถึงผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนซึ่งพบมากในด้านทิศตะวันตกของไทย เช่น กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น

        เมื่อประเทศไทยแบ่งคนออกเป็นแค่สองกลุ่มหลักข้างต้น จึงทำให้คนชาติพันธุ์บางคนที่ยังไม่ได้รับรองสัญชาติไทยถูกจัดกลุ่มตามที่ตีความพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 4 ว่าเป็น ‘คนต่างด้าว’ ทำให้ต้องอยู่ภายใต้สภาพถูกจำกัดและควบคุมสิทธิและเสรีภาพตามกฎหมายเดียวกับที่บังคับใช้กับคนต่างด้าวทั่วไปอย่างน้อย 3 ฉบับหลัก คือ พระราชบัญญัติสัญชาติ พระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร และพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง

        พ.ร.บ. สัญชาติ - ถูกจำกัดสิทธิและอาจถูกเลือกปฏิบัติในการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานของรัฐ ถูกจำกัดสิทธิทางการเมือง และทายาทก็มีโอกาสต้องเผชิญกับความท้าทายในการเข้าถึงสัญชาติเช่นเดียวกัน
        พ.ร.บ. ทะเบียนราษฎร - เป็นตัวกำหนดสถานะทางทะเบียนของบุคคล ซึ่งสถานะทางทะเบียนเป็นตัวบ่งบอกว่าบุคคลหนึ่งๆ มี หรือ ไม่มีสิทธิอะไรบ้าง
        พ.ร.บ. คนเข้าเมือง - ถูกจำกัดสิทธิในด้านการเดินทางและการประกอบอาชีพ

        สิทธิที่ถูกจำกัดข้างต้นล้วนคือสิทธิพื้นฐานภายใต้หลักการของความเท่าเทียมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่เพียงเท่านี้ คนกลุ่มนี้ยังเข้าถึงความช่วยเหลือฉุกเฉินหรือความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม อย่างเช่นในภาวะการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างจำกัด 

 

ความก้าวหน้าในการรับรองสิทธิแก่บุคคลที่ไม่มีสัญชาติ

        อย่างไรก็ตามสังคมไทยได้มีการต่อสู้เรื่องสัญชาติและสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้กฎหมาย กฎระเบียบ และแนวปฏิบัติต่างๆ มีการปรับปรุงให้การรับรองสิทธิบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยมากขึ้นตามลำดับ เช่น

  1. สิทธิในการรับรองการเกิด มีขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2534 ตามพ.ร.บ.ทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ทั้งนี้การแจ้งเกิดเป็นจุดเริ่มต้นของการมีตัวตนทางทะเบียนที่จะนำไปสู่การขอสัญชาติได้ในอนาคต
  2. สิทธิทางการศึกษา ปัจจุบันมีการรับรองสิทธิด้านการศึกษาในระบบสำหรับบุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย โดยให้บุคคลกลุ่มนี้ในระดับประถมศึกษาได้รับการอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวเท่ากับผู้มีสัญชาติไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 
  3. สิทธิด้านสาธารณสุข ประชาชนที่อยู่ในระหว่างกระบวนการเพื่อให้ได้รับสัญชาติไทย และผู้ที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาแต่ยังไม่ได้รับสิทธิด้านประกันสุขภาพสามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพได้ โดยถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข สิทธินี้มีผลหลังมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553 เรื่อง การให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ และมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2563 เรื่อง การให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิเด็กและบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษา

        ทั้งนี้แม้หลักการจะก้าวหน้ามากขึ้น แต่ในความเป็นจริงใช่ว่าจะไร้อุปสรรค เพราะในระดับปฏิบัติการยังมีความไม่มั่นใจในการดำเนินการ เช่น บางสถานศึกษาไม่กล้ารับเด็กไร้สัญชาติเข้าเป็นนักเรียน เป็นต้น

        ความท้าทายในประเด็นสัญชาติจึงสัมพันธ์กับความเข้าใจของคนในสังคมไทย ส่งผลต่อการออกกฎหมายและแนวปฏิบัติที่ทำให้คนตกหล่นจากกระบวนการจดบันทึกและพิสูจน์สัญชาติมายาวนาน แม้กฎหมายต่างๆ จะมีการพัฒนาการในทางที่ดี แต่ความเข้าใจของผู้ปฏิบัติงานทั้งในเรื่องหลักกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยธรรม และหลักมนุษยชนสากลยังคงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญว่าจะพาเรื่องนี้ก้าวไปข้างหน้าได้เพียงใด

 

 

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

 1 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515

ที่มา

https://csnm.kku.ac.th/th/news/Stateless?fbclid=IwAR1asYntMNVDIVquCkyOJuTqrD8OWEwPF05IIFPhQKqiQ8vXyA3iy7e4408
https://www.matichon.co.th/article/news_599580
https://www.chula.ac.th/cuinside/12859/
https://www.unicef.org/thailand/reports/invisible-lives

III
Stories Untold
ชีวิตในป่า เขา ลำเนาไพร

        คนชาติพันธุ์จำนวนไม่น้อยลืมตาคร้ังแรกท่ามกลาง ป่า เขา ลำเนาไพร เพราะบรรพบุรุษ วิถีและขนบของเขาสืบทอดกันจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีธรรมชาติแวดล้อม

        เมื่อทรัพยากรธรรมชาติเป็นทุกสิ่งที่สัมพันธ์กับปากท้องและความเป็นอยู่ พวกเขาจึงมักหาวิธีอยู่ร่วมกับสิ่งรอบตัวอย่างยั่งยืน 

        ตัวอย่างที่เห็นบ่อย คือ วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ทำไร่หมุนเวียน ลักษณะของไร่หมุนเวียนคือการปลูกพืชหลากชนิดในพื้นที่กว้างพื้นที่หนึ่ง หนึ่งรอบการผลิตกินเวลาประมาณ 1-2 ปี เมื่อเสร็จสิ้นชาวบ้านจะช่วยกันปรับสภาพให้ดินได้พักฟื้นเป็นเวลา 7-10 ปี จึงจะวนกลับมาเพาะปลูกที่เดิมอีกครั้งหนึ่ง กล่าวคือ ชาวกะเหรี่ยงจะเขยิบไปยังพื้นที่ทำกินแห่งใหม่ อยู่ร่วมและฟื้นฟูหมุนเวียนไปเช่นนี้เรื่อย ๆ สาเหตุก็เพราะต้องป้องกันดินถล่มจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่ลาดชัน และเพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าที่เป็นบ้าน ไม่เพียงแค่การทำมาหากินกับป่า ชาวกะเหรี่ยงยังมีวัฒนธรรมที่ปลูกฝังให้ลูกหลานรักษ์ธรรมชาติ เป็นต้นว่า จะมีการนำรกของเด็กแรกเกิดไปบรรจุในกระบอกไม้ไผ่และนำไปแขวนที่ต้นไม้ใหญ่ที่มีความมั่นคง โดยมีความเชื่อว่าห้ามตัดโค่นต้นไม้นั้น เพราะจะกระทบต่อชีวิตของเด็กด้วย

        อีกตัวอย่างหนึ่งของชีวิตที่สัมพันธ์กับธรรมชาติทางทะเล คือ ชาวอุรักลาโว้ย ทำมาหากินด้วยการทำประมงแบบโบราณ ใช้เครื่องมือที่ประดิษฐ์เองจับสัตว์น้ำแบบง่าย ๆ อยู่อาศัยในเรือ ล่องลอยกลางทะเล เมื่อถึงหน้ามรสุมหรือคลื่นลมแรง ชาวอุรักลาโว้ยจะขึ้นมาหลบบนฝั่ง ทำเพิงที่พักตามเกาะหรือชายหาด ปลูกมะพร้าว พืชผลตามฤดูกาล แต่ไม่ได้ถือครองที่ดินใด ๆ

 

เมื่อพื้นที่ชีวิตกลายเป็นพื้นที่อนุรักษ์

        ประเทศไทยมี พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในพ.ศ.2504 ใจความสำคัญของกฎหมายระบุว่าห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปอยู่อาศัยหรือทำกินในพื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครอง

        เมื่อ พ.ร.บ. นี้ เกิดหลังการตั้งถิ่นฐานของผู้คน แน่นอนว่าประกาศนั้นย่อมทับซ้อนกับพื้นที่อยู่อาศัยและเขตทำกินของประชาชนบางกลุ่ม วิถีชีวิตที่ดำเนินอยู่เนิ่นนานจึงกลายเป็นสิ่งที่ไม่ชอบโดยกฎหมาย

        แม้ในเวลาต่อมาจะมีมติคณะรัฐมนตรีในปี 2541 ที่ให้โอกาสหากพิสูจน์ว่าหากพื้นที่นั้น ๆ เคยเป็นที่ทำกินมาก่อน จะอนุญาตให้ใช้ได้เป็นรายกรณี แต่การพิสูจน์นี้กลับไม่สอดคล้องกับวิถีจริง เช่น กรณีของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่มีวิถีทำกินแบบไร่หมุนเวียนที่มีรอบปี ทำให้ไม่พบหลักฐานการทำกินชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อการพิสูจน์ทำผ่านภาพถ่ายทางอากาศเพียงปีเดียว คือปี 2545

        หรืออย่างกรณีของชาวเลที่แม้จะเวียนวนอยู่บริเวณชายฝั่งมานาน แต่ไม่เคยมีเอกสารสิทธิเพราะไม่รู้หนังสือ ผลกระทบมาถึงอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นเมื่อมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล ทะเลและหาดทรายต่างเป็นที่หมายปองของนักลงทุน ผู้ที่เข้าถึงกรรมสิทธิครอบครองพื้นที่ก็ได้ขับเบียดกลุ่มชาวเลออกไป แม้บางแห่งชาวเลจะยังคงรักษาวิถีจับสัตว์ทะเลหากิน แต่สิ่งที่พวกเขาแบกไปกับการดำเนินชีวิตด้วยคือความกังวล ต้องทำอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ เพราะหวั่นใจว่าจะถูกจับเข้าสักวัน

        ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ความเห็นในงานบรรยายสาธารณะประเด็นชาติพันธุ์และความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรว่า การผูกติดเรื่องการอนุรักษ์กับป่าอุทยานมีข้อกังวลตรงที่เป็นการทำให้ป่ามีชนชั้น มีทรัพยากรธรรมชาติบางแห่งและบางรูปแบบเท่านั้นที่ได้รับการให้ค่า อีกทั้งหลักการกำหนดเขตอุทยานยังสัมพันธ์กับสองปัจจัย คือ พื้นที่ต้องกว้างใหญ่ และ ต้องมีสัตว์ใหญ่ 

        เมื่อใช้ขนาดเป็นเกณฑ์ ผลที่ตามมาก็คือการทำให้พื้นที่ป่าใหญ่ขึ้นโดยการกีดกันสิ่งอื่น รวมถึงผู้คนที่ใช้ชีวิตกับป่าออกไป คุณค่าของวิถีที่หลากหลายของผู้คน รวมถึงป่าขนาดเล็กจึงไม่ถูกให้ความสำคัญ

        ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีอุทยานแห่งชาติ 133 แห่ง และมีพื้นที่รอประกาศอีก 22 แห่ง ไม่เพียงเท่านี้ ยังปรากฎแผนที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์อีกราว 7.15 ล้านไร่ เมื่อต้องการพื้นที่อนุรักษ์ที่ปลอดผู้คนจึงเป็นไปได้ว่าผลกระทบเรื่องพื้นที่ทำกินและพื้นที่อยู่อาศัยจะไปเยือนประชาชนทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่ชนบทที่อุทยานจะขยายไปถึงอีกหลายชุมชน

 

ธรรมชาติที่ต้องการการจัดการ

        การจัดการป่าเพื่อการอนุรักษ์ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของคนบางกลุ่มไม่เพียงถูกมองจากนักวิชาการหลายท่านว่าเป็นสิ่งที่ให้ผู้คนต้องโยกย้าย แต่ยังมองว่าไม่ใช่การรักษาและดูแลทรัพยากรธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

        ดังเช่นความคิดเห็นของ ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวสิ่งแวดล้อมว่า ทรัพยากรธรรมชาติต้องอาศัยการจัดการจึงจะอยู่รอด อย่างไรก็ตาม การจัดการแบบเชิงเดี่ยวหรือให้รัฐดูแลเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เพราะต้นทุนในการดูแลทรัพยากรธรรมชาตินั้นมหาศาล โดยศ.ดร.อานันท์ได้พยายามผลักดันการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเชิงซ้อนมาโดยตลอด นั่นคือการให้หลายฝ่าย ทั้งคนในป่า นอกป่า และภาครัฐมีส่วนร่วมด้วย

        แนวคิดการอนุรักษ์เชิงซ้อนแบบนี้มีการนำไปใช้แก้ปัญหาไฟป่าในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และในประเทศออสเตรเลีย เพราะต้องอาศัยองค์ความรู้ในการจัดการ และอาศัยทรัพยากรบุคคลในการช่วยแก้ปัญหา

        หรือตัวอย่างใกล้ตัว เช่น กรณีดอยช้าง อ.ป่าแป๋ จ.ลำพูน ที่กลุ่มชาติพันธุ์มีส่วนร่วมสร้างแนวกันไฟกว่า 50-60 กิโลเมตรเพื่อคุ้มกันไฟป่า

        ทั้งนี้ ในปัจจุบัน แนวทางจัดการป่าอนุรักษ์ทั่วโลกต่างเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ คำนึงถึงสิทธิของผู้คนประกอบด้วย ดังที่สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้ออกคำประกาศซึ่งมีใจความว่า ป่าอนุรักษ์ที่มีชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนอาศัยอยู่ รัฐต้องรับรองไม่เพียงแค่สิทธิ์ตามประเพณีหรือความรู้เท่านั้น แต่จะต้องจัดการให้เป้าหมายของป่าอนุรักษ์นั้นเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในท้องถิ่นด้วย แนวคิดนี้อาศัยหลักการกระจายอำนาจซึ่งหลายประเทศได้นำไปปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา แคนาดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย

        หากวันหนึ่งการอนุรักษ์ป่าในประเทศไทยถูกพิจารณาอย่างไม่แยกขาดระหว่างชาติกับท้องถิ่น มองเห็นข้อเท็จจริงว่าคนท้องถิ่นนั้นมีศักยภาพในการร่วมดูแลทรัพยากรในพื้นที่ เข้าใจ ยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม และเชื่อมั่นในการจัดการทรัพยากรตามวิถีที่มีความหลากหลาย ไม่แน่ว่าเราอาจจะประหยัดงบประมาณในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้มหาศาล และธรรมชาติจะเป็นส่วนหนึ่งของชาติและชีวิตของทุกคนอย่างยั่งยืน

 

 

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

ที่มา

https://waymagazine.org/chao-ley-of-koh-lipe/
https://prachatai.com/journal/2021/02/91718
https://nisitjournal.press/2020/01/06/landrights/
http://portal.dnp.go.th/Content?contentId=14573
https://greennews.agency/?p=22848
https://www.the101.world/doi-chang-parpae
http://danadeclaration.org/pdf/durbanaccordeng.pdf
http://www.mnre.go.th/th/news/detail/29732

IV
เรื่องราวที่ไม่ถูกเล่าของเยาวชนชาติพันธุ์

ณ วงสนทนากับเยาวชนชาติพันธุ์ เนื่องในวันเยาวชนสากล 2021

        จำนวนหนึ่งในสามของประชากรทั่วโลกในปัจจุบันประกอบด้วยกลุ่มเยาวชนและคนรุ่นใหม่ การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่หลายประเทศทั่วโลกได้ประกาศไว้ว่าจะบรรลุให้ได้ในปี 2030 หรือ อีกเพียงแค่ประมาณ 10 ปีนับจากนี้ นั้นก็คงจะเกิดขึ้นไม่ได้หากว่าเราจะไม่นับรวมกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ในอนาคต

        และถึงแม้ว่าเราสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ทั้ง 17 ข้อ จะถือว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนได้เกิดขึ้นแล้วจริงหรือไม่? อาจจะจริง หรือไม่จริงก็ได้ เพราะแก่นของการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ผลลัพธ์อย่างเดียวว่าเราพัฒนา “อะไร” แต่รวมไปถึงว่าเราจะพัฒนา “อย่างไร” สิ่งสำคัญมากกว่าคือเราควรตั้งคำถามกับกระบวนการพัฒนาที่เกิดขึ้นว่าสร้างการมีส่วนร่วม และนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์กับทุกคนหรือไม่? หรือการพัฒนาของเราจะนำไปสู่การทิ้งใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลังหรือเปล่า? “การพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” จึงเป็นหัวใจที่สำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน

        แล้วใครกันบ้างล่ะ ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง? เราอาจจะนึกถึงคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เข้าไม่ถึงโครงการพื้นฐาน นึกไปถึงคนไร้สัญชาติที่เข้าไม่ถึงสิทธิ สวัสดิการขึ้นพื้นฐาน นึกถึงผู้พิการที่เข้าไม่ถึงการเดินทาง โอกาสทางการศึกษาและอุปกรณ์หรือรูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสม นึกถึงคนจนเมืองที่เข้าไม่โอกาสทางเศรษฐกิจ หรือคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ถูกกีดกันในโอกาสการรับบทบาทบางอย่างในสังคม ฯลฯ อะไรที่ทำให้เขาถูกหลงลืมในการพัฒนา?

        ปัจจัยพื้นฐานของการถูกกีดกันมักมาจากตัวตนที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็น ชาติพันธุ์ เพศ อายุ ร่างกาย ที่อยู่อาศัย ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม แต่จะว่าไปแล้วทุกคนก็ย่อมมีอัตลักษณ์เหล่านี้อยู่ในตัว เพียงแต่เราเคยนึกถึงปัจจัยเหล่านี้หรือไม่ ว่าปัจจัยอัตลักษณ์ต่าง ๆ ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของเราอย่างไรบ้าง?

        กิจกรรม Online Youth Dialogue on Leave No One Behind เป็นกิจกรรมวงสนทนาเยาวชน 4 วงที่ชวนเยาวชนมารู้จักกับ “กลุ่มเปราะบาง” กลุ่มต่าง ๆ ที่มักถูกสังคมหลงลืมไว้ข้างหลังด้วยอัตลักษณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น วงสนทนากับเยาวชนชาติพันธุ์ วงสนทนากับเยาวชนจากชุมชนชายฝั่ง วงสนทนากับเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ และวงสนทนากับเยาวชนพิการ โดยเบื้องหลังของกิจกรรมนี้เกิดจากความเชื่อที่ว่าการสร้างพื้นที่พูดคุย เพื่อทำความรู้จัก เป็นเพื่อนกัน และได้มีพื้นที่ในการถามคำถามเพื่อเข้าใจถึงวิถีชีวิต ตัวตน และความต้องการที่แท้จริง จึงจะเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การสร้างสังคมที่เข้าถึงทุกคน เนื่องในวันเยาวชนสากล 2021 เราจึงได้นำส่วนหนึ่งของ “วงสนทนากับเยาวชนชาติพันธุ์” มาเผยแพร่ เพื่อชวนทุกคนมารับรู้ “เรื่องราวที่ไม่ถูกเล่า” ของเยาวชนชาติพันธุ์ไปด้วยกัน

1. เมื่อชาติพันธุ์มีความเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงสัญชาติ จึงนำไปสู่อุปสรรคในการเข้าถึงโอกาสต่าง ๆ

        เมื่อชาติพันธุ์ไม่เป็นเพียงชาติพันธุ์ แต่มีความเกี่ยวข้องกับอีกปัจจัยหนึ่งคือสัญชาติ เยาวชนชนเผ่าหลาย ๆ คนมักถูกตั้งคำถามในการได้รับสัญชาติ เนื่องจากชาติพันธุ์ที่มีความแตกต่าง รวมไปถึงที่อยู่อาศัยที่มีความห่างไกล ทำให้หลาย ๆ คนไม่ได้สัญชาติไทยตั้งแต่เกิด แต่ต้องเข้าสู่กระบวนการขอสัญชาติซึ่งใช้เวลาหลายปี ทำให้เยาวชนชนเผ่าหลายคนต้องอยู่ในสถานะ “บุคคลไร้สัญชาติ” ซึ่งสถานะนี้เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงโอกาสอีกหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น สิทธิ สวัสดิการพื้นฐาน ข้อจำกัดในการเดินทาง ในวัยของการคนหาตัวตน เรียนรู้โลกกว้าง แต่พวกเขากลับถูกจำกัดการเดินทางให้อยู่ได้เพียงในจังหวัดที่อยู่อาศัย รวมไปถึงโอกาสในการศึกษาและอาชีพ เมื่อไม่มีสัญชาติ ทำให้ไม่อาจเลือกประกอบอาชีพบางสายงานได้ ถึงแม้จะได้เรียนในสายนั้นก็ตามเยาวชนไร้สัญชาติต้องเผชิญกับการไม่มีตัวตน ไม่มีสิทธิ และไม่มีโอกาสที่จะออกแบบชีวิตที่ตนเองต้องการได้อย่างเต็มที่ แม้จะอยู่ในประเทศไทยมาตั้งแต่เกิด

        นอกจากนี้การไม่มีสัญชาติยังนำไปสู่ปัญหายิบย่อย ทำให้เยาวชนชาติพันธุ์ที่ต้องปรับตัวในการเข้าสังคม เช่น บางคนไม่มีนามสกุล และต้องตอบคำถามเหล่านี้ซ้ำๆ ว่าทำไมถึงไม่มีนามสกุล ยังไม่รวมไปถึงการถูกเพื่อนล้อ เกิดเป็นความรู้สึกแตกต่าง และถูกด้อยค่าจากการไม่มีสัญชาติ สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ความรู้สึกของการไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม

        นี่คือเรื่องราวที่ “สุชาติ” เยาวชนไทใหญ่บอกเล่าให้กับเพื่อน ๆ ในวงสนทนา แม้วันนี้เขาจะยังไม่ได้รับสัญชาติไทย แม้จะเข้ากระบวนการขอสัญชาติมาแล้วเป็นเวลากว่าสิบปี และยังมีเพื่อนพี่น้องของเขาอีกหลายคนที่ต้องเผชิญปัญหาเดียวกัน แต่สุชาติก็ยังมีความคิดสร้างสรรค์ในการหาทางออก ด้วยการสร้างเพจ “ตี่ตาง” เพื่อเป็นพื้นที่ในการให้ข้อมูลและช่วยเหลือคนไร้รัฐไร้สัญชาติให้เข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ และกระบวนการขอสัญชาติ ด้วยหวังว่าวันหนึ่งคนในสังคมจะรับรู้และเข้าใจประสบการณ์ที่คนไร้รัฐไร้สัญชาติต้องเผชิญ และมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบ เพื่อให้ทุกคนในไทยเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการที่เท่าเทียมมากขึ้น

2. เยาวชนชนเผ่ากับวิถีชีวิตแบบ Hybrid

        หากพูดถึงชนเผ่า เราอาจจะมีภาพจำของการอยู่อาศัยในชุมชน และมีวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชนเผ่า แต่รู้หรือไม่ว่า ในความเป็นจริงแล้ว เยาวชนจำนวนมากไม่ได้อยู่อาศัยที่ชุมชนอีกต่อไป นี่เป็นคำบอกเล่าจาก “น้ำ” เยาวชนอาข่าที่บอกกับวงสนทนา น้ำเล่าให้ฟังว่า เธอจำวัยเด็กของเธอได้ที่อาศัยอยู่กับแม่เฒ่าและจำได้ถึงความหลากหลายของพืชพันธุ์ท้องถิ่นในชุมชนที่ถูกเอามารังสรรค์เป็นเมนูต่าง ๆ ที่มีความหลากหลาย แต่เมื่อโตขึ้น เยาวชนชนเผ่าต้องออกจากหมู่บ้านของตนเองเพื่อเข้าสู่การศึกษาในระบบ เมื่อเรียนจบและได้กลับมาที่หมู่บ้านของตนเอง ก็ค้นพบว่าวิถีชีวิตและทรัพยากรท้องถิ่นนั้นหายไปมาก อีกทั้งความเป็นเยาวชนชนเผ่าที่ไปเติบโตในเมือง ก็เป็นความหลากหลายของประสบการณ์ในตัวเองที่ทำให้ต้องกลับมาทบทวนอัตลักษณ์และความเป็นตัวตนของตัวเองในฐานะเยาวชนชนเผ่าเช่นกัน แต่ด้วยความทรงจำวัยเด็กของน้ำที่ผูกพันกับทรัพยากรในท้องถิ่น น้ำจึงตัดสินใจทำกิจกรรม Seed Journey กิจกรรมท่องเที่ยวที่ชวนบรรดาเชฟมาเรียนรู้เมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นในชุมชน เพื่อรณรงค์ให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพในชุมชน รวมไปถึงเป็นการรังสรรค์เมนูใหม่ ๆ จากทรัพยากรในชุมชน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรท้องถิ่น

        หากเราพูดถึงเยาวชนชนเผ่าในทุกวันนี้ จึงอาจจะไม่ใช่ภาพจำของเยาวชนที่เติบโตมาในชุมชนแบบแยกขาดจากเมืองอีกต่อไป แต่เป็นเยาวชนที่มีส่วนผสมของการรับรู้รากเหง้าภูมิปัญญาท้องถิ่นและการซึมซับองค์ความรู้ มุมมองและเทคโนโลยีจากประสบการณ์ที่ได้ย้ายเข้าไปอยู่ในเมือง ซึ่งบางครั้งอาจจะนำไปสู่การต้องทบทวนความเป็นตัวตน แต่ขณะเดียวกัน ก็นำไปสู่การประยุกต์และทำให้เกิดการวิวัฒน์ต่อยอดภูมิปัญญาของชนเผ่าให้คงอยู่ต่อไปในบริบทปัจจุบันได้อย่างกลมกลืน

3. กะเหรี่ยงกับวิถีชีวิตที่อาจจะไม่เท่ากับการทำไร่หมุนเวียนและการทอผ้าเสมอไป

        หากพูดถึงชาติพันธุ์ “กะเหรี่ยง” เราอาจจะนึกถึงวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับของคนกับป่า ไม่ว่าจะเป็นการทำไร่หมุนเวียน มีอาหารอุดมสมบูรณ์ตลอดปี หรือการทอผ้าด้วยมือที่เป็นเอกลักษณ์จากทรัพยากรในชุมชน แต่ “ศิริ” เยาวชนลาวอีสานที่เติบโตมากับครอบครัวกะเหรี่ยงได้มาบอกเล่าในวงสนทนาว่ามันไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป เพราะชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่แม่สามแลบ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่เป็นชุมชนของพี่ ๆ น้อง ๆ ของเธอนั้นเป็นชุมชนชาติพันธุ์ที่ต้องประสบกับภัยสงครามบริเวณชายแดน ต้องอพยพกันหลายครั้งหลายครา ทำให้ไม่สามารถปักหลักในการทำไร่หมุ่นเวียนดั่งภาพจำที่เรามักคุ้นชินได้ อีกทั้งภูมิประเทศที่เป็นขั้นบันได ก็ไม่เอื้อต่อการทำไร่หมุนเวียน และเมื่อต้องหนีภัยสงครามกันตลอดเวลา ก็ทำให้วิถีชีวิต ภูมิปัญญาเลือนหายไป และทดแทนเข้ามาด้วยปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาปากท้อง ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาการศึกษา ฯลฯ ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งทำให้ปัญหาที่มีอยู่แล้วถูกขยายขึ้นไปอีก ศิริและเพื่อนๆจึงทำโครงการผ้าทอสีรุ้ง เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้กับกลุ่มผู้หญิง นอกจากนี้การออกแบบด้วยสีรุ้งยังเป็นการสร้างการตระหนักเรื่องความหลากหลายทางเพศให้กับคนในชุมชน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในการทำความเข้าใจอีกด้วย

       อย่างไรก็ตามการทำผ้าทอของผู้หญิงแม่สามแลบนั้นก็ไม่ได้ง่าย เนื่องจากผู้หญิงในชุมชนสูญเสียความรู้ในการทอผ้ามานานจากการย้ายถิ่นฐานและเปลี่ยนอาชีพ จึงต้องใช้เวลาอย่างมากในการเริ่มรื้อฟื้น โดยน้องศิริและเพื่อน ๆ ต้องเดินทางไปเรียนรู้วิธีการทอผ้าในชุมชนจังหวัดอื่น ๆ และกลับมาสอนผู้หญิงในชุมชน (ไม่สามารถพาผู้หญิงในชุมชนออกไปดูงานการทอผ้าได้ เพราะผู้หญิงในชุมชนไม่มีสัญชาติจึงทำให้การเดินทางข้ามจังหวัดเป็นเรื่องยาก) แต่ผลผลิตผ้าทอสีรุ้งนี้ก็เป็นครั้งแรกที่ทำให้ผู้หญิงในชุมชนมีรายได้ เป็นการหนุนอำนาจให้กับผู้หญิงในครอบครัวให้ทัดเทียมกับผู้ชายที่เป็นคนหาเลี้ยงครอบครัว อีกทั้งเมื่อมีคนสนใจซื้อผ้าทอสีรุ้งเพื่อสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ก็ทำให้คนในชุมชนตระหนักถึงการเปิดรับความหลากหลายทางเพศในสังคมอีกด้วย

 

ความเป็นชาติพันธุ์ อัตลักษณ์ที่ทุกคนต่างก็มีในตนเอง

        เรื่องราวเหล่านี้เป็นหนึ่งใน “เรื่องราวที่ไม่ถูกเล่า” ของเยาวชนชนเผ่าที่ถูกนำมาเล่าในวงสนทนากับเยาวชนชาติพันธุ์ ทำให้เยาวชนอื่น ๆ ได้รู้จักกับวิถีชีวิตของเยาวชนในมุมที่แตกต่างหลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้ทุกคนยังได้ตั้งวงแลกเปลี่ยนกันถึง “อัตลักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์” ในตัวเอง ว่าอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของแต่ละคนนั้นส่งผลต่อชีวิตประจำวันในเรื่องต่าง ๆ อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง อาหาร การเดินทาง การศึกษา สิ่งที่ชอบ ความเชื่อ ความรัก ฯลฯ ซึ่งเราก็ได้เห็นความเป็นชาติพันธุ์ที่ทั้งส่งผลให้เกิดความแตกต่างหลากหลาย ทั้งในความชอบ ความผูกพันกับวิถีชีวิตหรือการเข้าถึงโอกาส เราค้นพบว่า บางครั้งชาติพันธุ์ที่แตกต่างก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคที่แบ่งแยกเราจากกัน เราก็ยังมีอาหารบางชนิดที่ชอบเหมือน ๆ กัน มีความสนใจบางอย่างที่แชร์กันอยู่ หรือมีความฝันต่อสังคมที่มองเห็นร่วมกัน

        “ความเป็นชาติพันธุ์” นั้นอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้คนบางกลุ่มถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แต่ถ้าเราตระหนักได้ว่าความเป็นชาติพันธุ์ก็เป็นเพียงอัตลักษณ์หนึ่งที่ทุกคนต่างก็มีในตนเอง หากเราตระหนักถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่เราได้รับจากชาติพันธุ์ของเรา เราอาจจะเห็นช่องว่างความไม่เท่าเทียมของการพัฒนาที่เกิดขึ้น และหากเราเข้าใจว่าความหลากหลายของชาติพันธุ์นั้นเป็นเรื่องปกติในสังคม เราอาจจะมองหานวัตกรรมในการพัฒนาที่เข้าถึงทุกคนได้มากขึ้นก็เป็นได้

V
ชนเผ่าพื้นเมือง 101

ชนเผ่าพื้นเมืองคือใคร? ประเทศไทยไม่มี Indigenous peoples จริงหรือ?

       วันที่ 9 สิงหาคม 2564 ที่จะถึงนี้ เป็น "วันชนเผ่าพื้นเมืองโลก" (Indigenous Peoples’ Day 2021) แต่ในอีกมุมหนึ่ง ความมีตัวตนของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย กลับยังไม่ถูกยอมรับจากภาครัฐ

       และเมื่อเกิดมีคำกล่าวว่า “ประเทศไทยเราไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง” ประโยคนี้ จึงเป็นที่มาของการพูดคุยกันในวาระที่ว่า ชนเผ่าพื้นเมืองคือใคร? ประเทศไทยไม่มี Indigenous peoples จริงหรือ? โดย รศ. ดร. นฤมล อรุโณทั สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ ชูพินิจ เกษมณี นักวิชาการด้านชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองได้ให้เกียรติมาร่วมกันให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้

 

ชาติพันธุ์ และ ชนเผ่าพื้นเมือง เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

       อาจารย์ ชูพินิจ เกษมณี ได้ให้คำอธิบายว่า ชาติพันธุ์ Ethnic people หรือ ความเป็นชาติพันธุ์ Ethnicity ในทางสังคมศาสตร์ หมายถึง กลุ่มมนุษย์ที่มองตัวเอง หรือถูกมองจากคนอื่นว่ามีลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรม ซึ่งความเป็นชาติพันธุ์ จะเป็นการอ้างอิงถึงวัฒนธรรมร่วมและวิถีชีวิต ทั้งในด้านของภาษา ศาสนา วัฒนธรรมวัตถุ เช่น เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และอาหาร และผลผลิตทางวัฒนธรรมต่าง ๆ เช่น ดนตรีและศิลปะ ซึ่งโลกใบนี้ เป็นที่อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์หลายพันกลุ่ม นับจากชาวจีนฮั่น-กลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ที่สุดในโลก-ไปจนถึงกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่เล็กที่สุด บางกลุ่มอาจมีคนเพียงไม่กี่สิบคน และเกือบทุกกลุ่มเหล่านี้มีประวัติศาสตร์ ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม และมีอัตลักษณ์ร่วมกัน นั่นทำให้ทุกคนในโลกใบนี้ ล้วนแล้วแต่มีสังกัดชาติพันธุ์ด้วยกันทั้งนั้น

       ส่วนคำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง”  ในระดับโลก มีคำที่ใช้นิยามความหมายนี้อยู่หลายคำ เช่น Natives, Aborigines, Tribal people, First nation หรือ Indigenous People  ซึ่งหมายถึง ชุมชน ประชาชน และประชาชาติที่มีความสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์กับสังคมในยุคอาณานิคม ที่มีการพิจารณาตนเอง (Self-identification) ว่ามีความแตกต่างจากกลุ่มอื่น ๆ ของสังคม รวมทั้ง ไม่เป็นกลุ่มครอบงำของสังคม และมีความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ พัฒนาและสืบทอดเขตแดนของบรรพบุรุษและอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตนสู่คนรุ่นอนาคต และเป็นประชาชนที่ระบุตนเองว่าเป็น Indigenous และเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับเช่นนั้นโดยคนกลุ่มอื่น ๆ”

       ตั้งแต่การประชุม Rio Earth Summit 1992 (UNCED) เป็นต้นมา ได้กำหนดให้ใช้คำว่า Indigenous people ทั้งหมด แทนคำว่า Ethnic people และจากข้อมูลของ UNDRIP ได้ระบุว่า ชนเผ่าพื้นเมืองซึ่งทั่วโลกมีจำนวนอยู่ประมาณ 300 ล้านคน หรือ 62 กลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งจะมีกฎหมายระหว่างประเทศและปฏิญญาต่างๆ ที่คุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองอยู่ คือ ได้รับการคุ้มครองโดย ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง (UNDRIP) ได้มีโอกาสเข้าร่วมในเวทีถาวรแห่งสหประชาชาติว่าด้วยประเด็นชนเผ่าพื้นเมือง (UNPFII) โดยจะมี ตัวแทน 8 คนจากรัฐบาล 8 ประเทศหมุนเวียนกัน และตัวแทนจากชนเผ่าพื้นเมือง จาก 8 ประเทศหมุนเวียนกันเข้าไปให้ข้อเสนอแนะในเวที อีกทั้งยังมีโอกาสในการได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองและได้เข้าร่วมเวทีที่เกี่ยวกับชนเผ่าพื้นเมืองของสหประชาชาติ มีกฎหมายระหว่างประเทศที่ให้การคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับที่ดิน เขตแดน และทรัพยากรธรรมชาติ  ซึ่งแตกต่างจากฎหมายไทย ที่ไม่มีร่างพระราชบัญญัติใดคุ้มครองในเรื่องเหล่านี้ และที่สำคัญคือ จะได้รับโอกาสได้รับการสนับสนุนทรัพยากรจากแหล่งทุนต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในหลายประเทศ มีงานวิจัยที่ระบุว่า ชนเผ่าพื้นเมือง มีภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากรและช่วยอนุรักษ์ป่าอย่างยั่งยืน แม้แต่ในข้อตกลงปารีสก็เน้นเรื่องภูมิปัญญาชนเผ่าพื้นเมืองในการจัดการทรัพยากร การแก้ไขปัญหาโลกร้อนและสภาพภูมิอากาศ แต่รัฐไทยกลับไม่คำนึงถึงความสำคัญในข้อนี้

       รศ.ดร.นฤมล อรุโณทัย ได้อธิบายว่า ตามข้อมูลในร่าง พรบ.สภาชนเผ่าฯ ได้ให้คำจำกัดความของ “ชนเผ่าพื้นเมือง”ไว้ว่า เป็นกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ทางภาษา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและประเพณีร่วมกัน  มีวัฒนธรรมที่สร้างสมและพัฒนามาจากการอยู่อาศัยในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งมาอย่างยาวนาน มีการทำมาหากินส่วนใหญ่พึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่นั้น เช่น ป่า ภูเขา ทะเล ฯลฯ และเป็นกลุ่มที่มีประชากรจำนวนน้อยท่ามกลางประชากรหลักในประเทศ  ไม่ใช่กลุ่มครอบงำทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม และเป็นกลุ่มที่รักษาสันติวัฒนธรรม ดังนั้น กลุ่มที่เป็นกองกำลังหรือยังมีการสู้รบ จึงไม่ควรถูกนับเป็นชนเผ่าพื้นเมือง และข้อสำคัญคือ เป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการสูญหายทางภาษาและวัฒนธรรม และ/หรือได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนา หรือนโยบายการอนุรักษ์ในพื้นที่ 

       เมื่อสรุปข้อแตกต่างของคำว่า “ชาติพันธุ์” และ “ชนเผ่าพื้นเมือง” ประเด็นที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด คือ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ คือ ชนเผ่าพื้นเมืองจะเป็นกลุ่มที่มีความด้อยอำนาจ ไม่เป็นกลุ่มที่ครอบงำทางทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ไม่มีอิทธิพลหรือเป็นชนชั้นอำนาจในสังคม มีลักษณะของการเป็นผู้ด้อยโอกาส ถูกละเมิด หรือถูกเลือกปฏิบัติ  รวมทั้งมีการระบุหรือนิยามตนเอง Self-identification ว่าเป็นชนเผ่าพื้นเมือง ที่ได้รับการยอมรับจากชนเผ่าพื้นเมืองอื่นๆ

 

เราคือใคร?

       ผู้เข้าร่วมเสวนาได้มีการร่วมอภิปรายว่า คำว่า "ชนเผ่า (tribe/ tribal people)" เป็นคำสมัยอาณานิคมที่ชาวยุโรปใช้เรียก ชนกลุ่มอื่นที่ถูกมองว่าล้าหลังกว่า (สังคมบรรพกาล – primitive society) ซึ่งในปัจจุบันนี้ แม้แต่กลุ่มคนที่เราเรียกกันว่า “ชาวเขา” ก็ไม่ได้มีความล้าหลังแบบนั้นต่อไปอีกแล้ว ในขณะที่คำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง (Indigenous Peoples)” น่าจะเป็น “ชนเผ่า” + “ชนพื้นเมือง” เพราะในบริบทเมืองไทย มีลักษณะร่วมแบบนี้ และมีการใช้นิยามนี้ร่วมกันอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2550 เพียงแต่ยังไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐ

       สำหรบประเด็นนี้ อาจารย์ชูพินิจได้อธิบายว่า สิ่งสำคัญคือ การระบุตนเอง หรือ Self-Identification  ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของรัฐ ที่จะมาบอกว่าใครเป็นหรือไม่เป็นชนเผ่าพื้นเมือง ถ้าเราประกาศตนเองว่าเป็นชนเผ่าพื้นเมือง และเป็นที่ยอมรับของกลุ่มอื่น ก็ถือว่าเป็นชนเผ่าพื้นเมือง แม้ว่า การนิยามตนเองนั้น จะไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐ แต่ก็จะได้รับการยอมรับและคุ้มครองในระดับโลก  ในขณะที่การใช้คำว่า “ชาติพันธุ์” เป็นคำที่ไม่ถูกระบุไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ อาจจะทำให้ไม่มีช่องทางเข้าถึงสิทธิและโอกาสต่างๆ

 

มุมมองของรัฐไทย ต่อ “ชนเผ่าพื้นเมือง”

       จากคำกล่าวที่ว่า “ประเทศไทยเราไม่มี ชนเผ่าพื้นเมือง เรามีแต่คนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทยเท่านั้น ต่างกับหลายๆประเทศที่มี เรามีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งพอมาอยู่ในประเทศไทยแล้ว ตัวผมเองก็เป็นชาติพันธุ์เหมือนกัน” ของนายวราวุธ ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นับเป็นการตอกย้ำมุมมองภาครัฐที่ยังไม่ให้การยอมรับความมีตัวตนของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย

       และสำหรับข้อกฎหมายในประเทศไทย จะต้องอิงกับกฎหมายหลัก คือ รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะระบุคำว่า “ชาติพันธุ์” เป็นหลัก ดังนั้นการยกร่างกฎหมายใดๆ จะต้องยึดคำนี้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในการกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติ ย่อมหมายรวมถึงชนเผ่าพื้นเมืองด้วย ซึ่งภาครัฐจะเข้าใจคำนี้มากกว่า เพราะรัฐมองความเป็นชาติพันธุ์หรือชนเผ่าพื้นเมือง เป็นแค่ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ไม่ได้มองในมุมของจิตวิญญาณหรือรากเหง้า ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการขับเคลื่อนให้รัฐมองเห็นความสำคัญในจุดนี้ และรณรงค์สร้างการยอมรับทางสาธารณะด้วย ตัวอย่างเช่น กรณีของกะเหรี่ยงบางกลอย ซึ่งอยู่ในพื้นที่มาก่อนกฎหมายอุทยานฯ เป็นกลุ่มที่มีภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ดนตรีและศิลปะเชื่อมโยงกับป่าแก่งกระจาน รวมทั้งมีการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งระดับโลกได้กำหนดให้เป็นพื้นที่มรดกทางภูมิปัญญาวัฒนธรรมของชาติ แต่ภาครัฐกลับไม่ให้ความเคารพในจุดนี้ อีกทั้งไม่มีกฎหมายใด ให้ความคุ้มครองสิทธิพื้นที่บรรพบุรุษ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่ใกล้แนวเขตชายแดน จะยิ่งถูกจับตามองในประเด็นความมั่นคงของประเทศ และความอ่อนไหวของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอีก

 

วันนี้เราพูดเรื่องอะไรกัน?      

       ในวันที่รัฐไทยมองว่า ไทยเราไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง มีแต่ชาติพันธุ์ และลบคำว่า Indigenous ออกจากแผนงานมรดกโลก โดยใช้คำว่า Ethnics  แทน แต่ภาคประชาสังคม มองความเป็นชนเผ่าพื้นเมืองตามความเป็นจริงที่มีความซับซ้อนกว่านั้น และมีการตีความที่แตกต่างกัน เราจะทำอย่างไรให้แต่ละภาคส่วนมองให้เห็นความจริงที่มีอยู่ “หลายจริง” นั้นร่วมกัน ว่า ความเป็นชาติพันธุ์เองก็มีความซับซ้อนมากขึ้น ผู้คนมีความผสมกลมกลืนกันมากขึ้นจนเกินกว่าจะใช้เชื้อชาติ สีผิวมาเป็นข้อกำหนด

       การยอมรับถึงการมีอยู่ของชนเผ่าพื้นเมือง จะแสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่าประเทศไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเป็นอารยประเทศที่ปฏิบัติตามข้อตกลง/พันธกรณีที่รัฐไทยมีข้อผูกพันจริง  ดังนั้นเมื่อมีมุมมองที่แตกต่างกัน การหาทางออกที่ดีที่สุด คือ การร่วมพูดคุยกันระหว่างภาครัฐ และภาคประชาสังคมส่วนต่างๆ เพื่อมาร่วมกันกำหนดความหมายอย่างมีส่วนร่วม สร้างการยอมรับร่วมกัน ว่าความหมายของชนเผ่าพื้นเมืองมีสิทธิและความคุ้มครองอย่างไร วิธีคิดต่าง นิยามอยู่บนฐานคิด วิธีคิดแบบไหน ให้โอกาส ทางเลือกและคุณค่าของวิถีชีวิตอื่นในสังคมหรือไม่

       รัฐอาจมองในเรื่องความมั่นคง แต่สิ่งที่ชนเผ่าพื้นเมืองต้องการ ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือโฉนดที่เป็นเอกสารสิทธิ พวกเขาต้องการเพียงแค่ที่ดินสำหรับทำกิน และถิ่นที่อยู่ที่อันวิถีชีวิตดั้งเดิมของพวกเขา การจะให้ชาวมอแกน ไปอยู่ที่อื่นที่ไกลทะเล ให้มันนิออกไปจากป่า หรือกะเหรี่ยงบางกลอยย้ายออกจากใจแผ่นดิน ก็เหมือนการล้อมต้นไม้ใหญ่ไปปลูกที่อื่น โดยไม่ให้ความสำคัญ ไม่เห็นคุณค่าของราก เอาไปปลูกที่ไหนก็ไม่เหมือนเดิม เหมือนกับต้นไม้ที่ไร้ราก ขาดชีวิตและจิตวิญญาณ

       ดังนั้น ต่อคำถามที่ว่า “ไทยเรามีหรือไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง?” นั้น จึงไม่ควรถูกตอบหรือตีตราจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ควรที่จะมีการนิยามและให้ความหมายของ “ชนเผ่าพื้นเมือง” อย่างมีส่วนร่วม และ ยอมรับร่วมกัน อย่างแท้จริง

 

โดย รศ. ดร. นฤมล อรุโณทัย : สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และอาจารย์ ชูพินิจ เกษมณี นักวิชาการด้านชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง  / ดำเนินรายการ โดย พนม ทะโน

ความคิดเห็นในเอกสารฉบับนี้เป็นของผู้เขียน และไม่จำเป็นต้องเป็นความคิดเห็นขององค์การสหประชาชาติ รวมถึงโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และรัฐสมาชิก โดยเป็นการตีพิมพ์เอกสารอย่างอิสระซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป

VI
นิยามศัพท์

คนไร้รัฐไร้สัญชาติ
คนที่ไม่ได้รับการรับรองว่าเป็นพลเมืองของรัฐใดเลย แต่อาจได้รับการจดแจ้งให้มีสถานะในทะเบียนหรือมีเอกสารประจำตัว เช่น มีสูติบัตร หรือ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นบุคคลไร้สัญชาติ เป็นต้น

คนไทยพลัดถิ่น
คำที่ใช้เรียก ‘คนไทย’ หรือ ‘ผู้มีเชื้อสายไทย’ ที่กลายเป็นหรือมีบรรพบุรุษเป็นคนในบังคับของประเทศอื่นหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของราชอาณาจักรไทย

ชนกลุ่มน้อย
กลุ่มคนส่วนน้อยของประเทศและมีวัฒนธรรมเฉพาะที่แตกต่างจากคนกลุ่มใหญ่

ทะเบียนบ้านกลาง
ทะเบียนสำหรับคนที่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านปกติ อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เจ้าบ้านแจ้งชื่อบุคคลนั้นออกแต่ไม่ทราบที่อยู่ใหม่ หรือ เจ้าบ้านซื้อบ้านต่อจากผู้อื่นและย้ายชื่อที่ค้างออกจากทะเบียนบ้าน หรือ เสียชีวิตแต่ไม่เคยแจ้ง เมื่อชื่อคนเหล่านี้ถูกย้ายออกจากทะเบียนบ้านเดิมชื่อจะถูกย้ายไปในทะเบียนบ้านกลาง

บุคคลตกหล่น
บุคคลที่มีข้อเท็จจริงค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นคนไทย แต่ไม่ได้รับการแจ้งเกิด หรือแจ้งชื่อเข้าทะเบียนบ้าน การตกหล่นอาจเกิดจากระบบทะเบียนราษฎรในอดีตไม่ครอบคลุมกลุ่มคนในทุกพื้นที่

ผู้พลัดถิ่นภายใน
บุคคลที่ถูกบังคับให้หนีจากบ้านตนเองไปยังพื้นที่อื่นภายในประเทศ

ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน
บุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย แต่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน และเป็นบุคคลที่รัฐไทยยังพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีสัญชาติไทย

บัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนกลุ่ม 0-89
บัตรประจำตัวที่รัฐออกให้บุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีสัญชาติไทย

รัฐชาติ
รัฐที่มีองค์ประกอบ ได้แก่ ประชากร ดินแดนที่แน่นอน อำนาจอธิปไตย รัฐบาล อีกมีความผูกพันทางวัฒนธรรมและมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ร่วมกันด้วย

Map ViewStory View
Becoming HomeUnderstand MoreSubmit StoryAbout Us
ผลกระทบจากเหมืองถ่านหินอมก๋อยผลกระทบจากเหมืองถ่านหินอมก๋อย ชุมชนบ้านกะเบอะดิน
พื้นที่สื่อสารประเด็นสิทธิชนเผ่ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (R2S)
กะเหรี่ยงโผล่ว
ผลกระทบจากเหมืองแร่ฟลูออไรด์ ชุมชนบ้านห้วยมะกอก
พื้นที่สื่อสารประเด็นสิทธิชนเผ่ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (R2S)
ปกาเกอะญอ
ผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนแม่น้ำสาละวิน ชุมชนบ้านท่าตาฝั่ง
พื้นที่สื่อสารประเด็นสิทธิชนเผ่ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (R2S)
ปกาเกอะญอ
นโยบายป่ากับวิถีไร่หมุนเวียน ชุมชนบ้านเบ๊อะบละตู
พื้นที่สื่อสารประเด็นสิทธิชนเผ่ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (R2S)
ปกาเกอะญอ
สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง : เราไม่ได้ขอสิทธิพิเศษ เราแค่เรียกร้องสิทธิที่จะเป็นตัวเอง
เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง และ สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา
ลีซู
บทเรียน 11 ปี มติ ครม.3 สิงหาคม 2553 และ 23 ปี เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม “Review – Reset – Restart”
เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง และ ภัทรภร วิวัฒนาการ
ปกาเกอะญอ
บทความคนเปราะบางกับสถานการณ์โควิด
เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง และ ณิชา เวชพานิช
ชาวเล, ไทใหญ่
มึดา นาวนาถ - ฉันมีตัวตน แต่คนไม่ยอมรับฉัน
เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง และ อรสา ศรีดาวเรือง
ปกาเกอะญอ
ความทรงจำวันกินวอ
สมพร จะนู
ลาหู่
ความภาคภูมิใจในการเป็นผู้ช่วยครู
ชัยยศ เมอแล
อาข่า
คลิตี้ ชีวิต สายน้ำ ตะกั่ว: ความยุติธรรมที่อยุติธรรม
ธนกฤต โต้งฟ้า
กะเหรี่ยงโปว์
ผ้าทอชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงสีรุ้ง
เชอมะพอ, แอะวีนา, พอทู
กะเหรี่ยงสะกอร์
ความทรงจำในชาติพันธุ์เขมรของผม
อติเทพ จันทร์เทศ
เขมร-ลาว
เพราะเขตแดนที่พลัด-พราก
วิภาวดี พันธุ์ยางน้อย
ไทยใต้
งานแต่งงานชาวปกาเกอะญอ ณ บ้านห้วยหินลาดใน
ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปกาเกอะญอ
ชีวิตและความสูญเสียที่ไม่เคยถูกนับ
สายพร อัสนีจันทรา
ปกาเกอะญอ
สวนเมี่ยงเคียงป่าสกาด
ณัฐริยา โสสีทา, ภูวิมนทร์ อินดี
ลัวะ
มองชาวมันนิผ่านเลนส์
พศิน รัตนเดชตระกูล
มันนิ
ผ้ากะเหรี่ยง: ความเปลี่ยนแปลงผ่านกาลเวลา
นันทนา บุญลออ, ธีรพจน์ ธีโรภาส
กะเหรี่ยงโผล่ว
ชีวิตใหม่ของยุทธชัย จะจู
©UNHCR/Korakrit x Nakin
ลาหู่
ความหวังในชีวิตของอาม
©UNHCR/Korakrit x Nakin
ลัวะ
ชีวิตที่เปลี่ยนไปและสิทธิที่เท่าเทียมของอาตี้
©UNHCR/Roger Arnold
อาข่า
กลับบ้านเรากันเถอะ
วณิชากร ก้องคีรี, ณัฐดนัย ตระการศุภกร
ปกาเกอะญอ
ลาหู่ ณ บ้านปางกึด ความเรียบง่ายที่ยังไม่ไร้ข้อจำกัด
อัญชลี แก้วศรี, ศิริลักษณ์ แสงยอด
ลาหู่
ถูกทิ้ง
อรรคพล สาตุ้ม
ไทใหญ่
บ้านนอแล
สมพร ธรรมมะ
ดาราอั้ง
‘I Wish’ อาชีพที่ได้แค่ฝัน
พรทิพย์ รุ่งเรือง, แสงส่า -
ไทใหญ่
การเดินทางเป็นวงกลม
พรทิพย์ รุ่งเรือง
ไทใหญ่
จากวิถีชีวิตคนสู่วิถีอนุรักษ์ป่า
ประสิทธิ์ ศิริ
ปกาเกอะญอ
เมนูอาข่าอร่อยธรรมชาติ
ปณิตา  อมรศิริวัฒนา
อาข่า
เรื่องเล่าคนไร้รัฐ
ปติภาร นาหลง
ไทใหญ่-จีน-อินเดีย
ตกหล่น = ไร้สัญชาติ?
ตี๋ นาหยอด
ไทใหญ่
ชีวิตผิดกฎหมายในบ้านที่เติบโต
สุชาติ อิ่งต๊ะ
ไทใหญ่-จีน
เด็กติด G คือใคร?
สุชาติ อิ่งต๊ะ
ไทใหญ่-จีน
ไร่หมุนเวียน ชีวิตหมุนไป
ดวงเนตร วงษ์จำเนียง
ปกาเกอะญอ
น้ำตกแม่ปอคี สายน้ำแห่งชีวิต พื้นที่จิตวิญญาณ
ดวงเนตร วงษ์จำเนียง, สุวิทย์ อุดมรักพันธ์พง
ปกาเกอะญอ
วิถีชาวเล
ชาญวิทย์ สายวัน
อูรักลาโว้ย
ชื่อ - นามสกุล: น้ำตาจากเสียงหัวเราะ
ชยพล ติปะตึง
คนเมือง

This website uses cookies to offer you a better browsing experience. By using this site, you consent to our use of cookies.

Privacy PolicyAccept