You Me We Us นิทรรศการออนไลน์ที่ชวนคุณมาทำความรู้จักผู้คนหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ผ่านเรื่องราวที่บอกเล่าในรูปแบบ งานเขียน ภาพถ่าย และวิดีโอ ผลงานหลายชิ้นถ่ายทอดผ่านเจ้าของเรื่อง บางชิ้นถ่ายทอดจากผู้ที่ได้เข้าไปสัมผัสกลุ่มชาติพันธุ์นั้นๆ
เรื่องราวที่จัดแสดงในนิทรรศการส่วนหนึ่งมาจากผลงานที่ได้จากการอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘โครงการสื่อสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืน’ โครงการเพื่อเสริมทักษะด้านการสื่อสารให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ โดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป (EU) และมี Realframe เป็นผู้จัดกระบวนการ
ผลผลิตจากผู้เข้าร่วมหลายชิ้นสะท้อนวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และปัญหาที่กลุ่มชาติพันธุ์ต้องเผชิญได้อย่างน่าสนใจ UNDP จึงเลือกหยิบมาพัฒนาเป็นนิทรรศการออนไลน์ You Me We Us ผสมผสานกับเรื่องราวจากองค์กรอื่นๆ และบุคคลทั่วไป เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันสากลว่าด้วยชนพื้นเมืองดั้งเดิมของโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 9 สิงหาคมของทุกปี
You Me We Us หวังว่าจะเป็นส่วนช่วยให้ทุกคนได้เรียนรู้เรื่องความหลากหลาย กลับไปสำรวจว่ารากของ เธอ เขา เรา ฉัน เป็นใคร ทำความเข้าใจว่ามีองค์ประกอบใดบ้างที่ส่งผลให้การใช้ชีวิตของบางกลุ่มชาติพันธุ์มีข้อจำกัด และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างมองเห็นความเป็นมนุษย์ในกันและกัน
นิทรรศการออนไลน์ You Me We Us จัดโดย UNDP ร่วมกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย และสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และสนับสนุนโดย สหภาพยุโรป
ในปีนี้ วันสากลว่าด้วยชนพื้นเมืองดั้งเดิมของโลกมาในธีม “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง: ชนพื้นเมืองและการเรียกร้องสู่สัญญาประชาคมใหม่ (Leaving no one behind: Indigenous peoples and the call for a new social contract)”
ธีมนี้ว่าด้วยการที่โดยปกติกลุ่มชนพื้นเมืองหรือกลุ่มคนชาติพันธุ์มักถูกมองเป็นคนชายขอบ พวกเขาจึงแทบไม่เคยถูกนับรวมอยู่ในการสร้างข้อตกลงเพื่อผลประโยชน์บางอย่างหรือเพื่อร่วมหาทางออกใดๆ ตั้งแต่ต้น แต่ในช่วงหลังมานี้ แนวโน้มที่ดีขึ้นเริ่มปรากฏให้เห็น เมื่อผู้คนในหลายสังคมเริ่มเอ่ยปากขอโทษ เริ่มเปิดเผยข้อเท็จจริง รวมถึงเริ่มปฏิรูปกฎหมายและรัฐธรรมนูญโดยมองเห็นคนชายขอบมากยิ่งขึ้น
สัญญาประชาคมใหม่ที่ว่านี้จึงมุ่งเน้นไปที่การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงอันจะนำมาซึ่งการสร้างโอกาสที่เท่าเทียม เคารพสิทธิ ศักดิ์ศรี และเสรีภาพของมนุษย์ทุกคน ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย และท้ายที่สุด คงไม่มีอะไรสร้างความเข้าใจระหว่างรัฐกับกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเป็นรูปธรรมได้ดีไปกว่าการให้กลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจในหลาย ๆ เรื่องที่สัมพันธ์กับชีวิตของพวกเขาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เป็นองค์กรชั้นนำของสหประชาชาติที่ต่อสู้เพื่อยุติความอยุติธรรมของความยากจน ความไม่เท่าเทียมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยผ่านการทำงานร่วมกับเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญและพันธมิตรกว่า 170 ประเทศทั่วโลก เพื่อสร้างการแก้ปัญหาแบบบูรณาการที่ยั่งยืนสำหรับผู้คนและโลกใบนี้
เรียนรู้เพิ่มเติมที่ th.undp.org และ Twitter/Facebook: @UNDPThailand