ลาหู่ ณ บ้านปางกึด ความเรียบง่ายที่ยังไม่ไร้ข้อจำกัด
สัมผัสวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวลาหู่ในบรรยากาศเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ผ่านสายตาและมุมมองของสองชาวไทใหญ่
ผลงานโดย: อัญชลี แก้วศรี, ศิริลักษณ์ แสงยอด
เรื่องราวของชาติพันธุ์: ลาหู่
สถานที่: หมู่บ้านปางกึด ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
 
 
สรรพสิ่งชีวิตที่นี่ตื่นขึ้นมาพร้อมกับแสงแรกแห่งรุ่งอรุณ
ในทุก ๆ เช้าที่ค่อย ๆ กระจ่างสว่างไสว
ขยับจังหวะชีวิตของพวกเขาให้ครื้นเครงไปกับแสงที่แรงขึ้น
เหมือนกับว่าแสงพระอาทิตย์กำลังอวยพรให้ผู้คนที่นี่
เสียงนกร้องบรรเลงรับกับเสียงไก่ขัน เสียงเท้าเหยียบย่ำไม้ไผ่
เสียงซาวน้ำข้าวดังถี่กระชั้นจากบ้านนี้ไปบ้านนั้นอย่างบันเทิง
เหมือนเป็นสัญญาณแห่งการเริ่มต้นชีวิตของเช้าวันใหม่
 
 
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
 
หมู่บ้านปางกึด ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ บนดอยที่มีชนเผ่าลาหู่ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า มูเซอ พวกเขาอาศัยอยู่ที่นี่ มีวิถีชีวิตการกินการอยู่ที่เรียบง่าย มีประเพณี วัฒนธรรมสืบทอดต่อกันมายาวนาน หมู่บ้านอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 59 กิโลเมตร ใช้เวลาการเดินทาง 2 ชั่วโมง เส้นทางการเดินทางเข้ามายังหมู่บ้านแห่งนี้เป็นถนนคอนกรีตที่คดเคี้ยวไต่ระดับขึ้นมาตามเขา สร้างความท้าทายให้กับผู้มาเยือนใหม่ได้เป็นอย่างดี
 
ชนเผ่าลาหู่ส่วนมากจะอาศัยอยู่บนดอยสูงและเป็นชนเผ่าที่ไม่ชอบความวุ่นวาย มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย เป็นชนเผ่าที่สามารถปรับตัวเข้ากับผู้คนได้เป็นอย่างดี ชาวบ้านที่นี่ฐานะอยู่ในระดับปานกลาง พวกเขาอาศัยอยู่กับแบบพี่น้อง มีอะไรก็ช่วยเหลือกันตลอด ปลูกผักกินเองบ้าง ไม่ต้องใช้เงินไปซื้ออะไรมากมาย เสื้อผ้าก็จะมักเย็บหรือถักทอกันเอง แต่ที่นี่ดีหน่อยที่มีไฟฟ้าเข้าถึงและมีน้ำจากภูเขา แล้วมีโรงเรียนทั้งประถมและมัธยมต้นให้ได้เรียนกัน อาชีพของชนเผ่าลาหู่ที่นี่จะทำสวนทำไร่ ปลูกข้าวและล่าสัตว์ พวกเขาภูมิใจกับการเป็นนายพรานนักล่าหาเลี้ยงชีพ 
 
แต่ชีวิตที่เรียบง่ายเหล่านี้ของพวกเขากับถูกจำกัดด้วยเรื่องสถานะบุคคล ชนเผ่าลาหู่ที่นี่บางคนบางครอบครัวยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน พวกเขาต้องอยู่อย่างหวาดระแวง มีแค่เพียงบางกลุ่มบางครอบครัวเท่านั้นที่ได้รับการสำรวจและมีสัญชาติไทยแล้ว แต่ก็ยังมีบางกลุ่มที่ยังคงไม่ได้รับการสำรวจและมีบัตรประจำตัว คนกลุ่มนี้ยังมีอีกเป็นจำนวนมาก ที่หมู่บ้านปางกึดนี้มีทั้งคนที่มีบัตรและคนที่ไม่มีบัตรอะไรเลย คนที่ยังไม่มีสถานะก็จะลําบากในเรื่องของการเดินทาง การทำงาน การรักษาพยาบาล และสิทธิต่าง ๆ
ภาพมุมสูงของหมู่บ้านปางกึดพร้อมกับมีภูเขารอบหมู่บ้าน
โรงเรียนมัธยมต้นของหมู่บ้านปางห้วยตาดเป็นโรงเรียนเดียวที่อยู่บนดอยนี้ จึงทําให้เด็ก ๆ บ้านปางกึดมาเรียนที่นี่
สุขสันต์วัน ‘กินวอ’
 
เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2564 ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปเที่ยวชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของ ผู้คน ณ หมู่บ้านปางกึด ได้รับชมงานประเพณีปีใหม่ของชนเผ่าลาหู่ที่นี่ ที่เรียกว่า “กินวอ” (เขาะ เจ๊า เว) ซึ่งชาวลาหู่จะจัดขึ้นทุก ๆ ปีในช่วงต้นปีของเดือนมกราคม - มีนาคม ระยะเวลาในการจัดประเพณีกินวอนั้นประมาณ 7 - 10 วัน และจะเป็นวันรวมญาติ เป็นการกลับมาร่วมงานกันที่บ้านอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งปีใหม่หรือการกินวอนี้มีความสําคัญต่อชาวลาหู่มาก เพราะเป็นประเพณีที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่า และจะมีการละเล่นเฉพาะในช่วงที่มีประเพณีเท่านั้น ชาวลาหู่ทั้งหญิงและชายจะแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่าเต็มยศ และมารวมตัวกันเล่นการละเล่นที่ลานกว้างของหมู่บ้าน ได้แก่ การเต้น “จะคึ” การเล่นสะบ้า และการเล่นลูกข่าง
 
การละเล่นสะบ้า มีวิธีการเล่นคือ แบ่งผู้เล่นออกเป็นสองฝ่าย แต่ละฝ่ายจะมีลูกสะบ้าคนละ 1 ลูก และจะเรียงลูกสะบ้าไว้บนดินเป็นแนวยาวประมาณ 10 ลูก ถ้าฝ่ายไหนดีดหรือโยนโดนลูกสะบ้าหมด ก็จะถือว่าเป็นฝ่ายชนะ (ท่าในการโยนลูกสะบ้ามีหลายท่า จะใช้ท่าไหนก็ได้)
 
การละเล่นลูกข่าง ลูกข่างนั้นทำจากไม้เนื้อแข็ง ก้นลูกข่างจะเป็นสามเหลี่ยมและมีเหล็กปลายแหลมเพื่อให้ลูกข่างหมุนได้ วิธีเล่นก็คือ นำเชือกมามัดกับปลายด้ามไม้ พอเสร็จก็พันกับลูกข่าง โยนไปยังเป้าหมายแล้วดึงเชือกกลับมาอย่างไว้ จะทำให้ลูกข่างหมุน ถ้าลูกข่างของเราไปโดนคู่ต่อสู้ก็ถือว่าเราเป็นฝ่ายชนะ ซึ่งการละเล่นลูกข่างนี้เป็นที่นิยมเล่นกันมากที่สุดสำหรับผู้ชาย และในช่วงเช้าจะมีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน เหมือนประเพณีปีใหม่สงกรานต์ของไทย ในช่วงที่มีประเพณีกินวอ จะเป็นเวลาที่สนุกสนาน เพลิดเพลิน มีค่ามากสำหรับชาวลาหู่ และก็ยังเป็นการรักษาวัฒนธรรมของพวกเขาอีกด้วย 
 
รักษาไว้เพื่อให้ลูกหลานได้เห็นได้ดู เพื่อลูกหลานจะได้ตระหนักว่าประเพณีอันดีงามนี้ควรค่าแก่การรักษาไว้ต่อไป
วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2564 ช่วงเช้าเป็นการเต้นจะคึที่ต้อนรับแขกผู้ที่เข้ามาเยือนในหมู่บ้าน
การละเล่นสะบ้าที่เล่นได้ทุกช่วงวัยในช่วงเทศกาลกินวอเป็นการละเล่นที่มีแต่ผู้หญิง
การละเล่นลูกข่างของผู้ชายที่ใช้พละกำลังและความแม่นยำในการตี
การต่อแถวเพื่อรดน้ำดำหัวผู้อาวุโส
อุดมกำลังรดน้ำผู้อาวุโสในหมู่บ้านและผู้มาเยือนด้วยการเดินวนรอบเป็นวงกลม
บรรยากาศหมู่บ้านและวันกินวอ
คุณพ่อของอุดมกำลังร่อนเมล็ดกาแฟอาราบิกาเพื่อนำเปลือกออก
วิถีลาหู่

 

ในครอบครัวหนึ่งเป็นครอบครัวที่ดูอบอุ่น มีสมาชิก 7 คน มี พ่อ แม่ ลูกชายคนโต ลูกสะใภ้ ลูกชายคนเล็ก และลูกสาว 2 คน ก็คือครอบครัวของ “อุดม” ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านปางกึด พวกเขาใช้ชีวิตหาเช้ากินค่ำ ในแต่ละวันพวกเขารับจ้างทำไร่ ทําสวน เก็บชา กาแฟ รายได้ในแต่ละวันก็ขึ้นอยู่กับการเก็บของพวกเขา ถ้าเก็บได้มากก็จะมีรายได้มาก แต่ถ้าเก็บได้น้อยก็จะมีรายได้น้อย พอหลังจากเก็บเสร็จก็ต้องขนกาแฟเป็นสองสามกระสอบลงมาด้วยรถมอ’ไซเครื่องแรงเพื่อนำไปสู่ขั้นตอนของการคัดแยกเปลือกกับเมล็ด แล้วล้างน้ำเอาเมล็ดที่ลอยออก เสร็จแล้วนำไปตากเพื่อนำไปขายอีกที่ 
 
กว่าจะมาเป็นเมล็ดกาแฟที่เราได้กินกันในวันนี้ มันต้องผ่านขั้นตอนมากมาย พวกเขาทำแบบนี้ทุกวัน ไม่ใช่แค่ครอบครัวนี้ แต่เป็นทุกครอบครัว หมู่บ้านนี้ส่วนมากจะทำไร่ชาและไร่กาแฟ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากตรงนี้ มันจึงมีค่ามากสำหรับชาวลาหู่
ถ้าได้รับสัญชาติ เหมือนได้รับชีวิตใหม่
 
ครอบครัวอุดมเป็นครอบครัวที่พ่อแม่ของเขาเกิดในไทยแต่ไม่ได้รับการสำรวจ ทำให้ไม่มีบัตร การใช้ชีวิตมีความลำบาก ในการเดินทางไปต่างจังหวัดแต่ละทีก็ต้องขอใบอนุญาตเดินทางก่อน การรักษาพยาบาลก็ขาดสิทธิหลาย ๆ อย่างไป ต่อมามีมูลนิธิลาหู่และเครือข่ายสถานะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องสถานะนี้ แต่ก็ใช้เวลานานกว่าจะได้สถานะมา ซึ่งหลังจากที่ได้รับสถานะทางทะเบียนแล้ว ชีวิตการเป็นอยู่ของครอบครัวอุดมก็ดีขึ้นตามลำดับ ถึงแม้ว่ามันยังไม่ใช่บัตรประชาชนจริง ๆ ก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ทำให้ครอบครัวของอุดมอุ่นใจที่ได้มีตัวตนในสังคม ถึงแม้ว่าสิทธิ์จะยังไม่เท่าเทียมกับผู้ที่มีบัตรประชาชนก็ตาม แต่มันก็มีคุณค่ามากที่สุดสำหรับพวกเขา
 
คุณพ่ออุดมได้กล่าวว่า “ถ้าได้รับสัญชาติ เหมือนได้รับชีวิตใหม่”
 
เป็นคำพูดที่ไม่สวยหรูแต่เต็มไปด้วยความตื้นตัน 
 
คนเราบ้างทีก็ไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย ขอแค่สิ่งเล็ก ๆ ที่คนอื่นมองว่ามันไม่สำคัญ ก็เป็นสิ่งที่ดีมากพอแล้ว
เรื่องราวนี้เป็นผลผลิตจากเวิร์กชอป ‘โครงการสื่อสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืน’ จัดโดย UNDP ดำเนินกระบวนการโดย Realframe และร่วมสนับสนุนโดย EU
เขียนและถ่ายภาพโดย
อัญชลี แก้วศรี
เกิดในไทย ปัจจุบันเป็นนักศึกษามหาลัยที่มุ่งมั่นและวิ่งตามความฝันอยากมีธุรกิจร้อยล้านเป็นของตนเอง แต่กลับดันหลงรักการท่องเที่ยวมากว่าไหน ๆ พร้อมกับความหวังที่อยากมีบัตรประจำตัวประชาชนเป็นของตนเอง เพื่อจะได้โลดเล่นได้ดังใจหวัง
เขียนและถ่ายภาพโดย
ศิริลักษณ์ แสงยอด
อายุ 25 ปี สัญชาติไทย อยู่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันทำงานเป็นจิตอาสาเครือข่ายชุมชนเพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติ (LCN Thailand)