ชื่อ - นามสกุล: น้ำตาจากเสียงหัวเราะ
เมื่อข้าราชการที่เป็นคนพื้นราบหรือคนจากภูมิภาคอื่นต้องจัดทำสำมะโนประชากรให้คนชาติพันธุ์ บางครั้งเสียงและสำเนียงที่ไม่คุ้นเคยนำมาซึ่ง ชื่อ-นามสกุล ที่ผิดเพี้ยนและติดตัวคนกลุ่มนี้ไปอีกยาวนาน และยากต่อการเแก้ไขเปลี่ยนแปลง
ผลงานโดย: ชยพล ติปะตึง
เรื่องราวของชาติพันธุ์: คนเมือง
สถานที่: อ.แม่จัน จ.เชียงราย
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
 
 
ถ้าจะกล่าวถึงการมีนามสกุล ก็คงต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้มีการตั้งนามสกุลเหมือนกับประเทศอื่น ๆ โดยให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 และมีการพระราชทานนามสกุลให้แก่หลายครอบครัวที่เรียกว่า นามสกุลพระราชทาน จำนวน 6,432 นามสกุล และหลายครอบครัวก็ตั้งนามสกุลตามชื่อของผู้นำของครอบครัวนั้น หรือตามถิ่นที่อยู่อาศัยของครอบครัวนั้น 
 
นามสกุลแรกของประเทศไทย คือ สุขุม 
 
รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลไว้ทั้งหมด 6,464 นามสกุล แบ่งเป็น 
  • นามสกุลตามสมุดทะเบียน 6,439 นามสกุล (ในสมุดทะเบียนลงลำดับนามสกุลที่ได้พระราชทานไปเพียง 6,432 นามสกุล) 
  • นามสกุลพิเศษ 1 นามสกุล คือ นามสกุล ณ พิศณุโลก 
  • นามสกุลสำหรับราชสกุลรัชกาลที่ 4 อีก 24 นามสกุล เช่น กฤดากร เกษมศรี ขำดี คล้ายสังข์ จักรพันธุ์ จิตรพงศ์ ชัยสวัสดิ์ ชุมพล ทวีวงศ์ เลิศรัตนรังษี ทองแถม ตาฬุมาศสวัสดิ์ ดิศกุล เทวกุล เนื่องมัจฉา นิศารัตน์กุล พิมสาร ภวัครพันธุ์ ศรีธวัช ศรลัมพ์ สวัสดิกุล สวัสดิรัตน์ หัมพานนท์ สิงฆาฬะ สิงห์ฆาฬะ หัศบำเรอ 
เมื่อมีพระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ. 2456 ขึ้น ราษฎรไทยจึงต้องตั้งนามสกุลสำหรับใช้ในครอบครัวหรือตระกูลของตน โดยมีความนิยมหลายอย่างด้วยกัน ดังนี้ 
  • ตั้งตามชื่อของบรรพบุรุษ (ปู่ ย่า ตา หรือยาย) 
  • ข้าราชการที่มีราชทินนาม มักจะนำราชทินนามมาตั้งเป็นนามสกุลของตน เช่น หลวงพิบูลสงคราม (แปลก) ใช้นามสกุล "พิบูลสงคราม" 
  • ตั้งตามสถานชื่อตำบลที่อยู่อาศัย 
  • ชาวไทยเชื้อสายจีนอาจแปลความหมายจาก "แซ่" ของตน หรือใช้คำว่าแซ่นำหน้าชื่อแซ่ หรือสอดแทรกไว้ในนามสกุล 
  • หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวง ใช้นามราชสกุลของตนเป็นนามสกุล แต่ลูกของหม่อมหลวงและต่อไปเป็นหลาน เหลน ใช้นามราชสกุลโดยลำพังไม่ได้ ต้องมีคำว่า "ณ อยุธยา" ต่อท้าย สำหรับเชื้อพระวงศ์ 
พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 กำหนดหลักเกณฑ์การตั้งชื่อสกุลไว้ใน มาตรา 8 ว่า ชื่อสกุลต้อง 
 
(1) ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย หรือพระนามของพระราชินี 
(2) ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับราชทินนาม เว้นแต่ราชทินนามของตน ของผู้บุพการี หรือของผู้สืบสันดาน 
(3) ไม่ซ้ำกับชื่อสกุลที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ หรือชื่อสกุลที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว 
(4) ไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย 
(5) มีพยัญชนะไม่เกินกว่าสิบพยัญชนะ เว้นแต่กรณีใช้ราชทินนามเป็นชื่อสกุล 
 
 
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
 
บางทีไม่ต้องเป็นหมอดูแค่ได้ยินนามสกุลก็รู้แล้วว่าคน ๆ นั้นมีชาติตระกูลเป็นอย่างไร ชาติพันธ์ุไหน แล้วคนธรรมดาแบบเรา ๆ ล่ะ นามสกุลของเราจะบ่งบอกชาติตระกูล หรือภูมิลำเนาของเราขนาดนั้นไหม ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างให้ท่านผู้อ่านได้รับรู้รับทราบ หากมีนามสกุลของท่านอยู่ในบทความนี้ ต้องขออภัยไว้ล่วงหน้า 
 
ยกตัวอย่างเช่น 
  • ชาติพันธุ์ลาหู่ ผู้ชายจะมีชื่อขึ้นต้นด้วย “จะ...” ผู้หญิงจะมีชื่อขึ้นต้นด้วย “นา…” มีนามสกุลที่เป็นเอกลักษณ์คือ “ลาหู่นะ” 
  • ชาติพันธุ์เมี่ยน หรือเย้า นามสกุลส่วนใหญ่จะมี “แซ่เติ๋น” “แซ่ว่าง” “แซ่จ๋าว” 
  • ชาติพันธุ์อาข่า ผู้ชายจะมีชื่อขึ้นต้นด้วย “อา...” ผู้หญิงจะมีชื่อขึ้นต้นด้วย “หมี่…” ส่วนนามสกุลนั้นจะมีค่อนข้างมากหลายตระกูล เช่น “มาเยอะ” “หม่อโปกู่” “เชอหมื่อ” เป็นต้น
เราอาจจะเคยได้ยินชื่อของบุคคลหรือนามสกุล ที่ฟังแล้วแอบยิ้มหรือระเบิดเสียงหัวเราะ เพราะชื่อนั้นมันแปลก หรือมันดูตลก ในความตลกนั้นมันแฝงไปด้วยน้ำตา
 
ร่ายมาซะยาว แล้วมันเกี่ยวกับชื่อบทความนี้ยังไง? 
 
เราอาจจะเคยได้ยินชื่อของบุคคลหรือนามสกุล ที่ฟังแล้วแอบยิ้มหรือระเบิดเสียงหัวเราะ เพราะชื่อนั้นมันแปลก หรือมันดูตลก ในความตลกนั้นมันแฝงไปด้วยน้ำตา ถ้าชื่อนามสกุลนั้นเป็นของบุคคลที่ไร้รัฐไร้สัญชาติ เพราะหากมีชื่อนามสกุลที่ผิดเพี้ยน การแก้ไขจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากพอสมควร และส่งผลต่อการยื่นขอสถานะบุคคลหรือสัญชาติ จริง ๆ แล้วก็ต้องย้อนกลับไปอีกรอบตั้งแต่การสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ.2533 - 2534 และการสำรวจทะเบียนประวัติชุมชนบนพื้นที่สูง พ.ศ.2541 - 2542 เป็นการสำรวจ “ชาวเขา” และ “ชนกลุ่มน้อย” ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเพื่อจัดทำสำมะโนประชากร เพราะปัญหาเริ่มจากจุดนี้ 
 
สืบเนื่องจากทางข้าราชการส่วนใหญ่เป็นคนพื้นราบ หรือเป็นคนจากจังหวัดในภูมิภาคอื่น ซึ่งมีภาษาและสำเนียงที่แตกต่างจากชาวเหนือ และยิ่งเป็น “ชาวเขา” และ “ชนกลุ่มน้อย” ยิ่งทำให้การสื่อสารทุลักทุเลขึ้นไปอีกระดับ ทำให้การสื่อสารระหว่างกันผิดพลาด 
 
ยกตัวอย่างเช่น การบันทึกข้อมูลความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ที่สามีและภรรยามีบิดา-มารดา เป็นคน ๆ เดียวกัน อีกเรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่คือ เรื่องสถานที่เกิด กับ ปี พ.ศ. ที่เดินทางเข้าในประเทศ เพราะมีผลต่อการลงรายการสัญชาติไทย เนื่องจากพบว่าข้อมูลการเข้ามาในประเทศไทยของหัวหน้าครอบครัวจากประเทศพม่า ปี พ.ศ. 2530 มีบุตรเกิดปี พ.ศ. 2532 แต่ในสถานที่เกิดของบุตรระบุว่าเกิดประเทศพม่า การตีความหมายจากคำพูดที่ฟังไม่ค่อยเข้าใจ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ขัดแย้งกันชัดเจน ทำให้ผู้ถูกสำรวจต้องกลับมาแก้ไขความผิดพลาดนี้ ซึ่งก็มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก นี่แค่การสื่อสารผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้เป็นปกติธรรมดา
 
ทีนี้มาเข้าสู่เรื่องที่ผู้เขียนอยากจะเล่า เรื่องแรกนี้จะตลกหรือสงสารเจ้าของเรื่องดีล่ะ
 
โดยปกติแล้วเมื่อมีการคลอดบุตรที่โรงพยาบาล เมื่อคลอดเสร็จทางโรงพยาบาลก็จะออกเอกสารให้ คือ ท.ร.1/1 ตอนที่ 1 เพื่อนำเอกสารชิ้นนี้ไปแจ้งเกิดหรือออกสูติบัตร 
 
      ถ้าเป็นบุตรของคนไทย ก็จะได้ ท.ร.1 
      บุตรของผู้ถือบัตรบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย จะได้ ท.ร.3 
      บุตรของบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ก็จะได้รับ ท.ร.031 
 
โดยในเอกสาร ท.ร.1/1 ตอนที่ 1 ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ได้ระบุชื่อของเด็กที่เกิด จะระบุเพียง “ชื่อ บุตรนาง... นามสกุล...” แล้วที่ตลกคือตอนไปแจ้งเกิดเพื่อออกสูติบัตร ในสูติบัตรก็ระบุชื่อว่า “เด็กชายบุตรนางติน ไทยใหญ่” ปัจจุบันนี้เป็น “นายบุตรนางติน ไทยใหญ่” และก็ยังเปลี่ยนชื่อไม่ได้ เนื่องจากยังไม่ได้ลงรายการสัญชาติไทย
 

คนต่อไปเป็นเรื่องของลายมือเจ้าหน้าที่ อย่างที่รู้กันว่าบุคลากรทางด้านสาธารณสุขจะมีความสามารถในการอ่านและเขียน และเข้าใจกันเองเฉพาะในวิชาชีพนี้ วิชาชีพอื่นอาจจะต้องส่งวิเคราะห์อักษรกันเลยทีเดียวว่าพวกท่านใช้ภาษาอะไร ปัญหาเลยตกอยู่ที่เจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนที่ต้องบันทึกข้อมูล เหมือนเคสนี้ จริง ๆ แล้วเด็กชื่อว่า “เด็กหญิงหมวย คำมูล” แต่อาจจะเพราะตัว “ว” หัวค่อนข้างใหญ่ ปัจจุบันนี้ก็เลยมีชื่อในเอกสารทางราชการว่า “เด็กหญิงหมอย คำมูล”

 

อีกเคสนึงผิดที่นามสกุล เพราะการพูดสื่อสาร “นางสาวบูแผ่ นาเช่อกู่เม่อแล่” จริง ๆ แล้ว ตระกูลนี้นามสกุล “หมื่อแล” แต่เพราะตอนสัมภาษณ์เพื่อบันทึกข้อมูล บิดาของเคสนี้อาจจะต้องการบอกว่า “นามสกุลหมื่อแล” แต่ด้วยเพราะพูดไม่ชัด เจ้าหน้าที่จึงบันทึกนามสกุลอย่างที่ผู้อ่านเห็น

แล้วเรื่องนี้มันผิดที่ใคร?
หรือว่าใครต้องรับผิดชอบ
แก้ไขตรงไหนก่อนดี
แก้ที่ชาวบ้านพูดไม่ชัด
แก้ที่เจ้าหน้าที่ฟังไม่รู้เรื่อง
หรือแก้ไขที่กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ให้เป็นมิตรกับประชาชนอย่างแท้จริง
 
อ่านมาถึงบรรทัดนี้ แล้วยังไงล่ะ? ก็เป็นเรื่องธรรมดาหนิ ผิดก็แก้ไขได้ไม่ใช่เหรอ? ก็ต้องตอบว่าใช่ครับ ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ข้อ 115 ระบุว่าสามารถดำเนินการแก้ไขได้ทุกประเด็น แต่อย่างที่กล่าวเอาไว้ในหลายย่อหน้าว่าการแก้ไขนั้นมีผลต่อการยื่นลงรายการสัญชาติไทย เนื่องจากเอกสารหลาย ๆ อย่างจะมีข้อมูลที่ไม่ตรงกัน และนายทะเบียนจะไม่เชื่อว่าเอกสารเหล่านั้นเป็นของตัวเคสเอง ตอนยื่นขอสัญชาติอาจจะต้องมีการสอบปากคำพยานเพิ่มเติม หรือถ้านายทะเบียนใช้ดุลพินิจและไม่เชื่อถือในเอกสาร อาจจะลุกลามไปถึงการตรวจพิสูจน์ทางพันธุกรรมหรือ DNA ซึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่น้อยเลย ดังนั้นคำแนะนำส่วนใหญ่คือ “อย่าเพิ่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลในทะเบียนราษฎร์เด็ดขาด หากยังไม่ได้สัญชาติไทย” จึงทำให้คนเหล่านี้ต้องอยู่กับชื่อ - นามสกุล ที่ดูแปลก ดูตลก จนกว่าจะได้รับการลงรายการสัญชาติไทย แล้วคุณผู้อ่านลองคิดดูว่ามันขอยากและใช้เวลานานแค่ไหน? บางคนก็อยู่กับสิ่งนี้ไปจนตาย เพราะคุณสมบัติไม่เข้าเงื่อนไขของกฎหมาย 
 
แล้วเรื่องนี้มันผิดที่ใคร? หรือว่าใครต้องรับผิดชอบ แก้ไขตรงไหนก่อนดี แก้ที่ชาวบ้านพูดไม่ชัด แก้ที่เจ้าหน้าที่ฟังไม่รู้เรื่อง หรือแก้ไขที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เป็นมิตรกับประชาชนอย่างแท้จริง 
 
 
เรื่องราวนี้เป็นผลผลิตจากเวิร์กชอป ‘โครงการสื่อสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืน’ จัดโดย UNDP ดำเนินกระบวนการโดย Realframe และร่วมสนับสนุนโดย EU
 
 
อ้างอิงจาก
1. https://th.wikipedia.org/wiki/นามสกุล
2. https://pantip.com/topic/38979328
3. https://ap4.salesforce.com/a0m6F00000G1rU4?srPos=0&srKp=a0m 
4. https://ap4.salesforce.com/a0m6F00000HCTrN?srPos=1&srKp=a0m 
5. ฐานข้อมูลบุคคล โครงการไร้รัฐไร้สัญชาติ ADRA ประเทศไทย 
6. ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 
เขียนโดย
ชยพล ติปะตึง
นักพัฒนา ผู้ชื่นชอบงานพัฒนาตั้งแต่เป็นเยาวชน ปัจจุบันเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ